วันอังคาร, 19 มีนาคม 2567

ดร.เฉลิมชัย รมว.กท.เกษตรและสหกรณ์ รุดดูฝายแม่ปิงเก่า สารภี เตรียมน้ำช่วงฤดูแล้ง และแหล่งน้ำป้องกันไฟป่าหมอกควัน

Social Share

ดร.เฉลิมชัย รมว.กท.เกษตรและสหกรณ์ รุดดูฝายแม่ปิงเก่า เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้ง และแหล่งน้ำป้องกันไฟป่าหมอกควัน พร้อมเตรียมแผนพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรในอนาคต

27 พ.ย. 63 : ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายองลกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ได้เดินทางมาตรวจติดตามข้อมูลฝายแม่ปิงเก่า ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับทราบข้อมูลประวัติของฝาย การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง และแหล่งน้ำป้องกันไฟป่าหมอกควัน 2564 โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสำเริง ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 นายวุฒิชัย รักษาสุข ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน รักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชลประทาน รวมถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ให้การต้อนรับ

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ในนามกรมชลประทาน กล่าวว่า ความเป็นมาโดยย่อของฝายแม่ปิงเก่า ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อนลำน้ำปิงบริเวณที่ตั้งหัวงานฝายแม่ปิงเก่าแห่งนี้ ได้เปลี่ยนทางย้ายมาทางทิศตะวันตก ลำน้ำเดิมจึงเรียกว่า “แม่ปิงเก่า” ราษฎรได้ตีฝายพื้นเมืองเป็นตอนๆ ในลำน้ำแม่ปิงเก่า ตลอดความยาวเกือบ 14 กิโลเมตร ช่วงฤดูน้ำหลากน้ำในแม่น้ำปิงไหลเชี่ยว ทำให้ฝายราษฎรชำรุดเสียหายเป็นประจำทุกปี กรมชลประทาน ได้เข้ามาสำรวจวางโครงการในปี พ.ศ. 2472 ได้ลงมือก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2481 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2482 ประกอบด้วย ฝายหินก่อกั้นแม่น้ำปิง ประตูระบายทราย ประตูปากส่งน้ำสายใหญ่ เปิดทำการส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 45,500 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2563 รวมระยะเวลา 80ปี ในปี พ.ศ. 2494 กรมชลประทาน ได้แจ้งขนานนามฝายแม่ปิงเก่าว่า “ฝายชลขันธ์พินิต” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาชลขันธ์พินิต อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมชลประทาน แต่ราษฎรยังคงนิยม เรียกชื่อว่า ฝายแม่ปิงเก่า

นายวุฒิชัย รักษาสุข ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน รักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2564 ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ – ลำพูน ทางสำนนักงานชลประทานที่ 1 ได้เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำไว้ 6 ข้อ ดังนี้ 1. ประตูระบายน้ำ/ฝาย จะเปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภค-บริโภค ทั้งนี้สำหรับการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ขอความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปรับ ปลูกพืชใช้น้ำน้อย และส่งน้ำให้กับไม้ผล ไม้ยืนต้น 2.สำนักงานชลประทานที่ 1 จะรักษาเสถียรภาพของตลิ่งลำน้ำปิง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของตลิ่ง และควบคุมการปิดกั้นทางน้ำที่จะเป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง 3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลองและแหล่งน้ำต่างๆ 4. สถานีสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่น สามารถทำการสูบน้ำได้ตามปกติ 5.ขอความร่วมมือ ในการงดเพาะเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำปิงและในระบบชลประทาน (คลองส่งน้ำ/เหมืองส่งน้ำ) และ 6.ขอความร่วมมือจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน สูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกตามปฏิทินการสูบน้ำที่สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้วางแผนรอบเวรการสูบน้ำไว้แล้ว ขณะเดียวกันทุกประตูระบายน้ำ/ฝาย จะมีหัวหน้าสถานีสูบน้ำแต่ละแห่งเป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด

นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับแหล่งน้ำของกรมชลประทาน จะมีอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่ 2 แห่ง ขนาดกลาง 13 แห่ง และขนาดเล็ก 117 แห่ง ครอบคลุมในพื้นที่ 25 อำเภอ ขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 333 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งแหล่งน้ำตามแหล่งเก็บน้ำตามแหล่งต่างๆ ก็สามารถนำมาสนับสนุนภารกิจป้องกันหมอกควันไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ได้ ซึ่งในปีนี้สถานการณ์น้ำจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แหล่งน้ำต่างๆ ทางกรมชลประทานก็ยินดีที่จะให้การสนับสนุน เช่น ในปี 62 ที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง ในเขตอำเภอแม่ริม ก็ใช้แหล่งน้ำนี้ในการดับไฟป่าในพื้นที่ดอยสุเทพ-ปุย โดยใช้ผ่านทางอากาศยานของทาง ปภ. ก็มาใช้แหล่งน้ำนี้

นอกจากนั้น แหล่งน้ำต่างๆ ที่กระจายทั่ว 25 อำเภอ เนื่องจากสภาพอ่างเก็บน้ำทุกแห่งจะตั้งใกล้กับเขตพื้นที่ป่า ฉะนั้น จึงเป็นแหล่งน้ำที่สะดวกที่หน่วยพิทักษ์ป่า หน่วยดับไฟต่างๆ จะมาใช้แหล่งน้ำเหล่านี้ ซึ่งขณะนี้กำลังสรุปรวบรวมแหล่งน้ำและเตรียมนำเสนอท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

สำหรับน้ำที่จะใช้เพื่อการเกษตร ในส่วนของลุ่มแม่น้ำปิงก็จะมีการประชุมการบริหารจัดการน้ำคาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำปิงทั้งจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เพื่อกำหนดปริมาณน้ำต่างๆ ระยะรอบเวรน้ำที่จะใช้ เช่น อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล ก็วางแผนจะใช้น้ำในเขื่อนพื้นที่แม่งัดฯ เอง ประมาณ 45 ล้าน ลบ.ม. และอีก 45 ล้าน ลบ.ม. จะระบายลงสู่แม่น้ำปิง เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ และปีนี้ก็ได้ขอความร่วมมือในส่วนของลุ่มน้ำปิง เกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ไหนที่เกษตรกรมองว่าน้ำต้นทุนมีน้อย ก็ขอให้งดไปก่อนในปีนี้ และขอให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเป็นหลัก

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังจากรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำว่า เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำต้นทุนของปีนี้กับปีที่แล้ว ในปีนี้มีน้ำต้นทุนมากกว่า แต่ว่าการบริหารจัดการน้ำจะต้องทำให้เป็นระบบ จะต้องเข้มงวดมากกว่าเดิม จะต้องมีการรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างมีคุณค่าในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะน้ำอุปโภคบริโภค น้ำภาคการเกษตร การท่องเที่ยว ทุกภาคส่วนภาคอุตสาหกรรมยังต้องมีการรณรงค์อย่างนี้ตลอดไป

ข้าวนาปรังในปีนี้ ก็ดูปริมาณน้ำในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก ส่วนมาตรการหากพื้นที่ไหนจะมีปัญหาในเรื่องของน้ำก็จะส่งเสริมให้ปลูกพืชน้ำน้อย การเลี้ยงสัตว์ระยะสั้น ซึ่งจะเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกร ขณะนี้มีแผนงานเรียบร้อยแล้ว ส่วนพื้นที่แล้งมีตลอดทั้งปี ประเทศไทยหน้าฝนก็ไม่ได้มีฝนตก 100% ก็จะตกไล่กันไปตั้งแต่เหนือ อีสาน ภาคกลาง และสุดท้ายที่ภาคใต้ ขณะนี้เป็นฤดูฝนของทางภาคใต้ ซึ่งภาคใต้จะไม่มีปัญหาเรื่องของความแห้งแล้ง แต่ว่าภาคเหนือ ภาคอีสาน ฝนทิ้งช่วงไป 2-3 อาทิตย์ ก็จะเป็นแบบนี้ซึ่งเป็นธรรมชาติของประเทศ

นโยบายช่วยเหลือโควิด-19 ให้กับเกษตรกร ซึ่งโครงการประกันรายได้ก็ได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกพืช 5 ชนิด โครงการที่ใช้หลักการตลาดนำการผลิตก็ได้ดำเนินการจับมือกับภาคเอกชน ผลิตสินค้าส่งห้าง ส่งโมเดิร์นเทรด การนำสินค้าขึ้นขายออนไลน์ ขึ้นแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ให้เกษตรกรเป็นผู้ขายและให้ผู้บริโภคเป็นผู้ซื้อโดยตรงกับเกษตรกรก็ดำเนินการอยู่

ปัญหาที่กำลังแก้ไขในขณะนี้เป็นเรื่องข้าว การปรับปรุงพันธุ์ข้าว งานวิจัยพันธุ์ข้าว ต้องยอมรับว่า 3-4 ปี ที่ผ่านมา เรื่องของการพัฒนาพันธุ์ข้าวอาจจะล่าช้ากว่าเขา แต่ท่านรัฐมนตรี และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีนโยบายชัดเจน ภายใน 2 ปีนี้จะพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ล้ำหน้ากว่าประเทศอื่น พันธุ์ข้าวเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นความต้องการของตลาด ปริมาณคุณภาพ การลดต้นทุนทุกอย่าง ขณะนี้ได้ดำเนินการไปเป็นปีแล้ว ต้องได้ทั้งคุณภาพและปริมาณด้วย

เรื่องมาใหม่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
I LOVE FLOWER FARM เตรียมเปิดทุ่งดอกไม้ 4 โซน รับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น 12 ต.ค. 66 นี้
ห้ามพลาด ชลประทานเชียงใหม่ ชวนนักตกปลา “ล่าชะโดยักษ์” จิบกาแฟสันเขื่อนอ่างแม่จอกหลวง
(มีคลิป) ชาวอำเภอเชียงดาว เปิดประเพณีเดินเข้าถ้ำเชียงดาวขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเนื่องในวันวิสาขบูชา
(มีคลิป) เจ้าอาวาสวัดโลกโมฬี ตั้งโต๊ะแจกถุงยังชีพนับร้อยชุด ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากวิกฤติโควิ-19
รก.อธิการบดี มทร.ล้านนา ร่วมการประชุมติดตามการดำเนินงานในพื้นที่โครงการหลวง สืบสานศาสตร์พระราชา ต่อยอดงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
คลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่พบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึง 172 ราย และมีคลัสเตอร์ย่อยที่เชื่องโยงกับตลาดเมืองใหม่แล้ว 10 คลัสเตอร์