นักศึกษา ม.แม่โจ้ เจ๋ง จบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทิ้งปริญญาตรีกลับสู่ชนบททำเกษตรต่อยอดแนวคิดของครอบครัวด้วยการทำสมาร์ทฟาร์ม ไม่นั่งขายแต่ขายผ่านออนไลน์ ทำให้สินค้าไม่พอส่งขาย “ทำเกษตรอินทรีย์ แล้วมีความสุข ไม่ต้องขนขวายหาซื้อสิ่งอื่นแต่มีความสุขได้เลย”
การทำเกษตรอินทรีย์ หลายคนเข้าใจเพียงผิวเผินว่า การทำนั้นแค่ไม่ใช้สารเคมีก็ทำการเกษตรอินทรีย์ได้ แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และสิ่งหนึ่งที่กลายมาเป็นจุดขับเคลื่อนหลักด้านการเกษตรที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีให้สอดคล้องกัน ที่เรียกว่า “Young Smart Farmer” กลายเป็นกลไกขับเคลื่อนที่ให้ความรู้สู่เกษตรกร ให้ก้าวผ่านการเกษตรแบบเก่า สู่การเกษตรยุคใหม่ สร้างรายได้ในการเลี้ยงตนเองและครอบครัว ที่สำคัญคือการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อย่างเช่นกรณีของ น้องวุฒิ หรือ นายสราวุฒิ ภมรสุจริตกุล อายุ 27 ปี ได้เล่าให้ฟังว่า ตัวเองนั้นจบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ธุรกิจ ไม่เกี่ยวกับการเกษตรเลย แต่ส่วนตัวนั้นผูกพันกับการทำเกษตร ช่วงปิดเทอมก็กลับบ้านไปช่วยพ่อกับแม่ทำการเกษตรตลอด ตอนแรกหลังจากจบ ป.6 ก็คิดจะทำเกษตรช่วยพ่อกับแม่ แต่ทางพ่อบอกว่าถ้าคิดแบบนั้นก็ตัดพ่อตัดลูกกันไปเลย จึงไปเรียนต่อ ซึ่งช่วงที่เรียนก็เรียนไปตามเพื่อน ไม่มีแนวคิดอะไรเป็นของตัวเอง จนกระทั่งจบปริญญาตรี จึงค้นพบว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบทางด้านเกษตร
จากนั้นตนได้รู้จักและไปเรียนรู้กับ “โครงการคนกล้าคืนถิ่น” และได้ไปทำในหน้าที่ผู้ประสานงานแล้วได้เจอเครือข่ายมากมาก ได้เรียนรู้วิถีการทำการเกษตรเลยชอบมากขึ้น ซึ่งในระหว่างที่ทำงานอยู่กับโครงการ ก็ได้ทำฟาร์มเล็กเพื่อลองผิดลองถูกให้กับตัวเอง หลังจากได้องค์ความรู้มาก็กลับมาทำ ได้แนวคิดใหม่ก็กลับมาทำ และต่อมาได้เข้าร่วมกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติ “กลุ่มม่วนใจ๋” แล้วได้เรียนรู้กับการทำเกษตรอินทรีย์ที่ตรงตัว ทำให้เรารู้ว่าเราชอบด้านนี้ แล้วเห็นว่าจะทำเล่นๆ ไม่ได้แล้ว
ในขณะที่บ้านก็ทำไร่ “กะหล่ำ” บนดอยทั้งดอยมีแต่ไร่กะหล่ำ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า กะหล่ำ คนปลูกได้ราคา 3 – 4 บาท แต่พอไปถึงปลายทาง ราคา 20 กว่าบาท แล้วราคาอีก 10 กว่าบาทหายไปไหน โดยคิดว่าควรเริ่มอะไรสักอย่าง และไม่อยากปลูกกะหล่ำอีก จึงเริ่มจากตัวเราที่ปรับเปลี่ยนก่อน ก็เลยค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ทำต่อเนื่องมาก
ตอนที่อยู่กับกลุ่มม่วนใจ๋ ซึ่งพี่แหม่ม เป็น Young Smart Farmer อยู่แล้วได้ชักชวนมา พอเข้ามาร่วมก็ได้เปิดวิสัยทัศน์เยอะมาก จากปกติที่มองมุมแคบๆ ได้เจอเพื่อน เจอคนในกลุ่ม ก็ทำให้มองมุมที่กว้างขึ้น และทำให้รู้ว่าเราอยู่ตัวคนเดียวเราอยู่ไม่ได้ เมื่ออยู่กับคนที่บ้านเขาก็ไม่ได้มีแนวคิดเหมือนกับเรา แต่พี่น้อง Yong Smart Farmer ที่กลับมาที่บ้านหลายคนก็เป็นเหมือนกับเราที่ครอบครัวไม่เห็นด้วย พอมาเจอเพื่อนๆ พี่ๆ ที่มีแนวคิดเดียวกัน ก็คุยกันแล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้คนในครอบครัวได้เห็นว่าทำได้
สำหรับการปรับใช้ด้านเทคโนโลยีกับการเกษตรนั้น ส่วนตัวแล้วไม่ได้วางขายเหมือนกับคนทั่วไป โดยความคิดส่วนตัวมองว่า หากเราไปนั่งที่ตลาดจะทำให้เสียเวลาของเราไป เลยทำการตลาดออนไลน์ ด้วยการสร้างเพจเฟสบุ๊ค แล้วขายแบบพรีออเดอร์ จากนั้นก็นำผลผลิตของทางบ้าน ซึ่งทำความเข้าใจกับพ่อและแม่ ให้ท่านได้เข้าใจแล้วนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าด้วยแนวคิดที่ว่า “ใช้พื้นที่น้อยๆ แต่มีประสิทธิภาพ” แล้วระบบก็ไม่ยุ่งยากที่จะทำความเข้าใจด้านการตลาด
การเป็น Young Smart Farmer เป็นสิ่งที่ดีที่มีรุ่นพี่คอยสอนรุ่นน้อง และมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูแล ทุกวันนี้การทำตลาดออนไลน์ได้ราคาดีมาก จนสินค้าไม่เพียงพอส่งลูกค้า ซึ่งขณะนี้ในส่วนตัวมองว่าเราพอแล้ว แต่จะขยายให้กับทางชุมชนได้อย่างไรมากกว่า ทุกวันนี้ก็มีการจับกลุ่มกับพี่ๆ น้องๆ ในชุมชนว่าใครสนใจอยากจะทำเหมือนกับเราบ้าง เพราะเรามีแหล่งตลาดแล้ว เราก็กระจายความรู้สู่ชุมชนของเรา
สำหรับที่ต้องการแนวคิดการทำ ก็ติดต่อมาทางเพจเฟสบุ๊คของผมได้ที่ https://www.facebook.com/AkipuGarden/ ซึ่งมองว่าไม่ใช่การขอความ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันมากกว่า แล้วมองว่าเป็นพี่เป็นน้องในการทำเกษตรอินทรีย์เหมือนกัน ก็มาพูดคุยกันได้ เป็นเหมือนครอบครัว พี่น้อง ไม่ต้องถามเป็นแบบทางการก็ได้ เราพร้อมแบ่งปันความรู้ในสิ่งที่เรารู้มาให้กับทุกคน เพราะมองว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้”
การมอง Young Smart Farmer แตกต่างกับธุรกิจอื่นอย่างไร เพราะหลายคนที่จบมาเหมือนเรา แต่ไปทำอาชีพอื่นที่ไม่ได้กลับมาทำธุรกิจของครอบครัว โดยเฉพาะทางด้านการเกษตร ในส่วนตัวมองว่า ธุรกิจนี้เราทำแล้วเราสบายใจ ไม่ได้เบียดเบียนใคร แม้แต่ศัตรูพืชต่างๆ เราก็ไม่ได้เบียดเบียน เพราะเราทำเกษตรอินทรีย์
“หัวใจสำคัญของเกษตรอินทรีย์ คือเราทำดี เราก็ได้ ผู้บริโภคก็ได้” เมื่อเราทำของดีๆ ออกมาไม่มีมลพิษกับเรา คนบริโภคก็ไม่ได้รับมลพิษ ทำให้เราสบายใจ “การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นอะไรที่ตอบโจทย์สำหรับคนที่อยากทำเกษตรแล้วมีความสุข อยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ได้หมายถึง ตัวเงินที่มากขึ้น แต่หมายถึง การที่เราได้กลับไปใช้ชีวิตในชนบทมากขึ้น ชีวิตที่ไม่ต้องขนขวายที่จะหาเพื่อมาซื้อสิ่งอื่น แต่เราสามารถหาความสุขได้เลย”
เรื่องมาใหม่
- (คลิป) ทหารพรานในพื้นที่แม่อาย เดินป่าระยะทางไกล ลุยมอบผ้าห่มให้ประชาชนแนวชายแดน
- ศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านป่าหมาก เชิญร่วมสมทบทุนทอดผ้าป่าสร้างอาคารเรียนชั่วคราว หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารเรียน
- SUN จัด Town Hall Meeting “Year of Change 2024”
- เทศบาลเมืองแม่เหียะ จัดกิจกรรม 5 ธันวาคม พร้อมมอบโล่พ่อดีเด่น 29 ท่าน
- “เยาวชนคริสเตียนจิตอาสา” ร่วมเยาวชน 3 ศาสนา ทำดีเพื่อพ่อ 5 ธันวา