22 มกราคม 2562 : นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า แม่วางเป็นแหล่งปลูก “หอมหัวใหญ่” ที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่โดยมีพื้นที่การผลิตทั้งสิ้น 3,500 ไร่ เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศตลอดจนสภาพอากาศ เหมาะกับการปลูก ให้มีคุณภาพ โดยเกษตรกรจะเริ่มทำการเพาะปลูกต้นเดือนธันวาคมและจะ เก็บผลผลิตช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งตั้งแต่เริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน
โดยที่ผ่านมาประสบปัญหาผลผลิตขาดคุณภาพเนื่องจากการทำลายของหนอนกระทู้หอม Spodoptera exiqua (Hubbner) กรมส่งเสริมการเกษตร โดยความร่วมมือของกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ร่วมกับ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ดำเนินงานโครงการการจัดทำแปลงเรียนรู้ทดลองการใช้เชื้อไวรัส NPV (Nuclear Polyhedrosis Virus) เพื่อควบคุมหนอนกระทู้หอม จังหวัดเชียงใหม่ได้คัดเลือกอำเภอแม่วาง เป็นพื้นที่นำร่อง ร่วมกับอีกจำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี,ลำพูน,นครราชสีมา ,นครปฐม ,กาญจนบุรี และสงขลา ซึ่งล้วนเป็นแหล่งปลูกหอมแปลงใหญ่ของประเทศ
เชื้อไวรัส Nucleopolyhedro virus (NPV) จัดเป็นไวรัสที่เกิดเป็นโรคกับแมลงชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำให้แมลงศัตรูพืชเกิดเป็นโรคและตายในเวลาต่อมา เชื้อที่ได้นำมาทดลองได้แก่ NPV ของหนอนกระทู้หอม (Spodoptera exigua (SeNPV)) หนอนกระทู้ผัก (Spodoptera litura (SlNPV)) เกษตรกรอำเภอแม่วางที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวน 3 รายๆละ 2 ไร่ แบ่งเป็นแปลงทดลอง จำนวน 1ไร่ และแปลงตามวิธีปกติของเกษตรกร จำนวน 1ไร่ โดยให้เกษตรกรฉีดพ่น เชื้อ NPV ของหนอนกระทู้หอม (Spodoptera exigua (SeNPV) ในแปลงทดลอง เพื่อควบคุมหนอนกระทู้หอม อัตราการฉีดพ่น SeNPV 1 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นประจำทุก 7 วัน
โดยเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานเกษตรอำเภอแม่วาง ร่วมกันสำรวจจำนวนหนอนทู้หอม หนอนกระทู้ผัก และแมลงศัตรูพืชอื่นๆ ที่เข้าทำลายหอมหัวใหญ่เป็นประจำทุกสัปดาห์ พร้อมบันทึกและรายงานผล ระยะเวลาการทดลอง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ถึงเดือนมีนาคม 2562 ผลการทดลองในระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีการพบหนอนกระทู้หอมในแปลงทดลองที่ฉีดพ่นเชื้อไวรัส NPV น้อยกว่าแปลงตามวิธีของเกษตรกร เมื่อสิ้นสุดการทดลอง แปลงเหล่านี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้เชื้อไวรัส NPV ในการกำจัดหนอนกระทู้หอม
เมื่อเกษตรกรรู้จักการใช้ NPV แล้ว เกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี สามารถใช้ NPV ทดแทนสารเคมีได้ จะเป็นการช่วยลดอันตรายจากการใช้สารเคมีแก่เกษตรกร และช่วยลดรายจ่ายค่าสารเคมีลงได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นการนำไวรัส NPV มาใช้จะเป็นการช่วยอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและช่วยเพิ่มปริมาณของศัตรูทางธรรมชาติ ตลอดจนเกษตรกรสามารถดำเนินชีวิตภายใต้สุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีมีความปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ยั่งยืนสืบไปอีกด้วย
เรื่องมาใหม่
- AIS ร่วมมือตำรวจไซเบอร์ กสทช. ทลายแก๊งมิจฉาชีพ ใช้เครือข่ายปลอมผิดกฎหมาย ส่ง SMS หลอกลวงประชาชน
- เทศบาลเมืองแม่เหียะ Kick off เร่งควบคุมไข้เลือดออกทุกหลังคาเรือน
- ขนส่งแม่สะเรียงจัดโครงการนักเรียนรุ่นใหม่มีใบขับขี่ สร้างการเรียนรู้ขับขี่ปลอดภัยอยู่ในวินัยจราจร
- แม่ฮ่องสอน เร่งประชุมเยียวยาดูแลลูกจ้างถูกทำร้าย ยันลูกในท้องยังอยู่ สภาพจิตใจบอบช้ำ
- SUN ลงนามความร่วมมือ ธ.ก.ส. ต่อยอดโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหวานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร ขยายพื้นที่สู่ภาคเหนือตอนล่าง