วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

ชาวเชียงใหม่ แห่ชม “ซูเปอร์ฟูลมูน” คืนมาฆบูชา ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี

Social Share

19 ก.พ. 62 : ที่หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการจัดกิจกรรม ชม “ซูเปอร์ฟูลมูน” คืนมาฆบูชา ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีกลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งภายในงานนอกจากจะมีกิจกรรมเพื่อความบันเทิง ทั้งดนตรี กิจกรรมตอบคำถามชิงของรางวัล และพิเศษสำหรับชาวเชียงใหม่ ร่วมรับฟัง Special Talk “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับดวงจันทร์” โดย “ป๋องแป๋ง” อาจวรงค์ จันทมาศ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง มาให้ความรู้กับประชาชนด้วย

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า คืนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ตรงกับวันมาฆบูชา ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ที่ระยะห่างประมาณ 356,836 กิโลเมตร หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่า 7% และสว่างกว่า 16% สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 18:11 น. เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถรอชมและเก็บภาพความสวยงามของดวงจันทร์ได้ในคืนดังกล่าว ครูและนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ที่มีกล้องโทรทรรศน์ยังสามารถใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียนและชุมชน สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยสนใจศึกษาดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์จากปรากฏการณ์ในครั้งนี้ได้อีกด้วย

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น แต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 356,400 กิโลเมตรและตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก มีผลทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงมากกว่าปกติเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีผลกระทบอื่นใดต่อโลก นอกจากนี้ การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

แม้ว่าดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่อาจไม่ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง สำหรับ “ดวงจันทร์เต็มดวงและใกล่้โลกที่สุดในรอบปี” ครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 8 เมษายน 2563 ห่างประมาณ 357,022 กิโลเมตร

นอกจากนี้ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ทาง สดร. ก็ได้จัดสังเกตการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. เชิญชวนประชาชนร่วมส่องจันทร์ดวงโตชัดเต็มตาด้วยกล้องโทรทรรศน์หลายรูปแบบ และร่วมบันทึกภาพหลุมอุกกาบาตและภูเขาบนดวงจันทร์ผ่านโทรศัพท์มือถือ 4 แห่ง ณ หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (โทร. 053-121268-9 ต่อ 305, 081-8854353) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา (โทร.086-429-1489) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา (โทร. 084-088-2264) และ ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จ.สงขลา (โทร.095-1450411) และโรงเรียนเครือข่ายในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ฯ ยังร่วมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดังกล่าวอีกกว่า 360 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ www.NARIT.or.th

เรื่องมาใหม่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สถาบันดาราศาสตร์ คว้าอันดับ 1 แบรนด์ที่ทำผลงานยอดเยี่ยมบนโซเชียลมีเดีย
สถาบันดาราศาสตร์ จับมือจีน พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ เตรียมสร้าง “ดาวเทียมวิจัยฝีมือคนไทย”
สดร. เผยความคืบหน้า “ดาวเทียมสัญชาติไทย TSC-1” พร้อมเปิดตัวซูเปอร์คอมพิวเตอร์ “ชาละวัน”
นักดาราศาสตร์ ยืนยัน แหล่งกำเนิดอนุภาคนิวทริโนพลังงานสูงเป็นครั้งแรก
นาซาแถลงข่าวยืนยันพบน้ำพุบนผิวดวงจันทร์ยูโรปา
สภาพอากาศเป็นใจไม่มีฝนตก ประชาชนชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว แห่ชม “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี”