วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

สภาพอากาศเป็นใจไม่มีฝนตก ประชาชนชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว แห่ชม “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี”

Social Share

ประชาชนชาวเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยว แห่ชม “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” และปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดี ในวันเดียวกัน โดยสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าจนถึงเช้าในวันถัดไป

ช่วงค่ำวันที่ (9 พฤษภาคม 2561) ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้จัดกิจกรรม ชม “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ซึ่งมีประชาชนชาวเชียงใหม่ นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ตั้งโทรทรรศน์บริการประชาชนที่มาร่วมงานให้ได้ดูดาวพฤหัสบดี อย่างใกล้ชิดมากขึ้นด้วย แม้ว่าในช่วงเย็นวันนี้ท้องฟ้ามืดคลื้ม มีลมพัดแรงคล้ายกับจะมีฝนตก แต่โชคดีที่ไม่มีฝนตกลงมา และท้องฟ้ากลับมาสว่างตามปกติ ทำให้มองเห็นดาวพฤหัสบดีได้อย่างชัดเจน

 

ทางด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ในช่วงรุ่งเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 เวลาประมาณ 07:10 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ที่ระยะทางประมาณ 658 ล้านกิโลเมตร หรือ 4.40 หน่วยดาราศาสตร์ วันดังกล่าวดาวพฤหัสบดีจะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดคืน

ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินจนถึงรุ่งเช้า สว่างสุกใส สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีค่าความสว่างปรากฏประมาณ -2.5 (ความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) และหลังจากนี้เรายังสามารถชื่นชมความสวยงามของดาวพฤหัสบดีได้จนถึงเดือนกันยายน

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ดาวพฤหัสบดีจะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคันชั่ง (Libra) ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เวลาประมาณ 06.00 น. ในเช้าวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 หากสังเกตด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะเห็นดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี หรือที่เรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลียน (Galilean Moons) ได้แก่ ไอโอ (Io) ยูโรปา (Europa) แกนิมีด (Ganymead) และคัลลิสโต (Callisto)

รวมถึงแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีได้อีกด้วย และหากใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีหน้ากล้องตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี (Great Red Spot) ได้อย่างชัดเจน ซึ่งคืนวันที่ 9 พฤษภาคม จะสังเกตเห็นจุดแดงใหญ่ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 – 20:00 น. และจะปรากฏอีกครั้งในเวลาประมาณ 02:00 – 06:00 น. ของวันที่ 10 พฤษภาคม 2561

สำหรับดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง จึงเป็นตำแหน่งที่ใกล้โลกที่สุด นอกจากนี้การที่ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หมายถึงเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดีก็จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และจะปรากฏบนท้องฟ้าให้เรายลโฉมเป็นเวลายาวนานตลอดทั้งคืน จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป

แม้ว่าตามปกติแล้วดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์หรือใกล้โลกมากที่สุดเป็นประจำทุกปี ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2561 และครั้งต่อไปในวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ขนาดปรากฏของดาวพฤหัสบดีในช่วงที่โคจรมาใกล้โลกในแต่ละปีมีความแตกต่างกันไม่มากนัก เนื่องจากดาวพฤหัสบดีอยู่ไกลจากโลกค่อนข้างมาก ต่างจากดาวอังคารที่มีขนาดปรากฏใหญ่เล็กแตกต่างกันในแต่ละปี (ระยะห่างเฉลี่ยจากโลกถึงดาวพฤหัสบดี 780 ล้านกิโลเมตร ระยะห่างเฉลี่ยจากโลกถึงดาวอังคาร 78 ล้านกิโลเมตร)

แต่การส่องกล้องโทรทรรศน์ชมดาวพฤหัสบดีที่เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีโอกาสเห็นแถบเมฆที่เป็นพายุขนาดใหญ่บนดาวพฤหัสบดี จุดแดงใหญ่ จุดแดงเล็ก รวมทั้งดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีทั้งสี่ดวง เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ เยาวชน ได้เป็นอย่างดี และนอกจากการสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีที่ใกล้โลกที่สุดในรอบปีแล้ว วันดังกล่าวยังมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดีให้ได้ติดตามกันด้วย โดยดวงจันทร์ยูโรปาจะโคจรผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี เกิดเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดี ในช่วงเวลาประมาณ 18:20-20:36 น.

นับเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง และยังถือเป็นโอกาสดีในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์นอกห้องเรียนแก่นักเรียนและประชาชนในชุมชนใกล้เคียงได้ด้วย สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและสถานที่จัดกิจกรรมเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/NARITpage

เรื่องมาใหม่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง