นักดาราศาสตร์ ยืนยัน แหล่งกำเนิดอนุภาคนิวทริโนพลังงานสูงเป็นครั้งแรก
(12 กรกฎาคม 2561) นักดาราศาสตร์ประกาศค้นพบอนุภาคนิวทริโนพลังงานสูงเป็นครั้งแรก ด้วยเครื่องตรวจวัดจากหอสังเกตการณ์นิวทริโนพลังงานสูงบริเวณขั้วโลกใต้ ในโครงการไอซ์คิวบ์ และสามารถยืนยันได้ว่าอนุภาคนิวทริโนพลังงานสูงดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดจากกาแล็กซีกัมมันต์ซึ่งอยู่นอกกาแล็กซี่ทางช้างเผือก
นิวทริโน เป็นอนุภาคที่มีอันตรกิริยาที่อ่อนมากกับอนุภาคชนิดอื่น มีคุณสมบัติทะลุทะลวงผ่านสสารต่าง ๆ รวมถึงร่างกายของเรา จึงตรวจจับได้ยากมาก กระทั่งนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์สามารถสร้างเครื่องตรวจจับนิวทริโน และค้นพบว่านิวทริโนมีมวล อีกทั้งยังเปลี่ยนชนิดได้ จนนำไปสู่การคว้ารางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2558 สำหรับวิธีการตรวจวัดนิวทริโนพลังงานสูงต้องตรวจวัดนิวทริโนที่มาจากนอกระบบสุริยะเท่านั้น นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์นานาประเทศจึงร่วมกันดำเนินโครงการไอซ์คิวบ์ สร้างหอสังเกตการณ์นิวทริโนพลังงานสูงบริเวณขั้วโลกใต้บนพื้นที่กว่าหนึ่งตารางกิโลเมตร เมื่อนิวทริโนพลังงานสูงจากอวกาศผ่านเข้ามายังโลกจะชนกับโมเลกุลน้ำ เกิดเป็นแสงสว่างวาบ ทำให้สามารถตรวจจับนิวทริโนพลังงานสูงเหล่านั้นได้
ที่ผ่านมา มีการตรวจพบนิวทริโนพลังงานสูงที่ไม่สามารถระบุที่มาถึงสามครั้ง จนกระทั่งวันที่ 22 กันยายน 2560 เครื่องตรวจวัดนิวทริโนในโครงการไอซ์คิวบ์ ตรวจพบนิวทริโนพลังงานสูงจากกลุ่มดาวนายพราน สอดคล้องกับการปะทุรังสีแกมมาหลายครั้งจากกาแล็กซี่กัมมันต์ TXS 0506+056 บริเวณกลุ่มดาวนายพราน นักดาราศาสตร์จึงร่วมกันสังเกตการณ์ในทุกช่วงคลื่น ตั้งแต่คลื่นวิทยุจนถึงรังสีแกมมา
จากการสังเกตจากหลายความยาวคลื่นพบข้อมูลตรงกันคือ กาแล็กซีกัมมันต์ TXS 0506+056 กำลังอยู่ในช่วงลุกจ้า จึงสรุปได้ว่านิวทริโนพลังงานสูงที่ค้นพบเกิดจากการปะทุรังสีแกมมาของกาแล็กซี่กัมมันต์ดังกล่าว และคาดว่ามีหลุมดำมวลยวดยิ่งอยู่บริเวณใจกลางกาแล็กซีนี้ ซึ่งกรณีนี้ เป็นกาแล็กซีกัมมันต์ชนิดพิเศษ ที่มีชื่อว่า “เบลซาร์” นอกจากนี้ ยังพบว่าการแผ่รังสีในครั้งนี้ไม่ได้มาจากตัวหลุมดำเอง แต่มาจากบริเวณรอบหลุมดำ
นายอภิมุข วัชรางกูร นักวิจัยด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์พลังงานสูง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า การค้นพบอนุภาคนิวทริโนพลังงานสูงในครั้งนี้นำไปสู่ยุคใหม่ของการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ฟิสิกส์ นอกเหนือจากการสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าหรือการเก็บข้อมูลจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่ง สดร. มีนักวิจัยที่ศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์กาแล็กซีกัมมันต์ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังส่งนักศึกษาไทยร่วมฝึกอบรมด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาค ภายใต้โครงการความร่วมมือกับ สถาบันเดซี ประเทศเยอรมนี (DESY: Deutsches Elektronen-Synchrotron) หนึ่งในห้องปฏิบัติการชั้นนำของโลกด้านฟิสิกส์อนุภาคมูลฐานอีกด้วย ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าสถาบันเดซี มีความร่วมมือโดยตรงกับโครงการไอซ์คิวบ์ ที่สามารถค้นพบอนุภาคนิวทริโนพลังงานสูงดังกล่าว
รวมถึงโครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชอร์เรนคอฟ (Cherenkov Telescope Array : CTA) ซึ่งเป็นโครงการสำหรับสร้างกล้องโทรทรรศน์รังสีแกมมาพลังงานสูงขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในอนาคตอันใกล้นี้ สดร. ยังเป็นหนึ่งใน 212 สถาบัน จาก 32 ประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญในโครงการ CTA ร่วมออกแบบและสร้างเครื่องเคลือบกระจกสำหรับเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์ในโครงการดังกล่าวกว่า 6,400 ชิ้น เพื่อรักษาประสิทธิภาพกระจกกล้องโทรทรรศน์ในการรับรังสีเชอร์เรนคอฟจากอวกาศอีกด้วย
นอกจากนี้ สดร. ยังเข้าร่วมโครงการจูโน (Jiangmen Underground Neutrino Observatory) ซึ่งเป็นโครงการสร้างเครื่องตรวจจับนิวตริโนขนาดใหญ่ที่ประเทศจีน นอกจากจะการศึกษาคุณสมบัติต่างๆ ของนิวตริโนแล้ว โครงการจูโนยังเป็นเหมือนกล้องตรวจวัดนิวตริโนที่มาจากกาแล็กซี่กัมมันต์ รวมทั้งนิวตริโนที่อาจจะเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างสสารมืดอีกด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อ หรือติดตามข่าวสารได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250 , Website : www.narit.or.th , Facebook : www.facebook.com/NARITpage, Twitter : @N_Earth , Instagram : @NongEarthNARIT และ Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 1313
เรื่องมาใหม่
- AIS ร่วมมือตำรวจไซเบอร์ กสทช. ทลายแก๊งมิจฉาชีพ ใช้เครือข่ายปลอมผิดกฎหมาย ส่ง SMS หลอกลวงประชาชน
- เทศบาลเมืองแม่เหียะ Kick off เร่งควบคุมไข้เลือดออกทุกหลังคาเรือน
- ขนส่งแม่สะเรียงจัดโครงการนักเรียนรุ่นใหม่มีใบขับขี่ สร้างการเรียนรู้ขับขี่ปลอดภัยอยู่ในวินัยจราจร
- แม่ฮ่องสอน เร่งประชุมเยียวยาดูแลลูกจ้างถูกทำร้าย ยันลูกในท้องยังอยู่ สภาพจิตใจบอบช้ำ
- SUN ลงนามความร่วมมือ ธ.ก.ส. ต่อยอดโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหวานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร ขยายพื้นที่สู่ภาคเหนือตอนล่าง