วันอาทิตย์, 12 พฤษภาคม 2567

(คลิป) คณะแพทย์ มช. ชี้แจงหน้ากากอนามัยไม่พอต้องไปใช้หน้ากากผ้าในห้องผ่าตัดแทน

Social Share

คณะแพทย์ มช. ชี้แจงหน้ากากอนามัยไม่พอต้องไปใช้หน้ากากผ้าในห้องผ่าตัดแทน ยืนยันสั่งซื้อแล้วแต่ไม่มีของมาขาย และต้องปรับไปให้บุคลากรที่มีความเสี่ยงใช้ก่อน ส่วนห้องผ่าตัดที่ผ่าตัดไม่เสี่ยงก็ใช้หน้ากากผ้าแทน

4 มี.ค. 63 : ที่ห้องประชุม บุญสม มาร์ติน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศรีพัฒน์ รศ.นพ.ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และ ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องความเพียงพอสำหรับการใช้งานหน้ากากอนามัย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ของทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากมีบุคลากรของโรงพยาบาลได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านโลกออนไลน์ โดยมีข้อความระบุว่า “ห้องผ่าตัดรพ.แห่งหนึ่งทางภาคเหนือที่ชื่อขึ้นต้นด้วยสวน..ลงท้ายด้วยดอก มีmaskเหลือพอ ใช้อีก 2 วันจ้า หลังจากนี้จะใช้maskผ้าแล้ว ยุคมืดที่แท้ ไม่กันเลือด ไม่กันแม้กระทั่งละอองหูด กันแค่น้ำลายเราตกใส่ฟิลด์เวลาเม้าในเคสเท่านั้น ยุคมืดจริงๆจย้าาา”

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด 19 ที่แพร่ระบาดขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ก็มีมาตรการในการรับมืออยู่แล้ว ทั้งการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามา โดยให้ใช้เจลล้างมือ และมีเครื่องเทอร์โมสแกนตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกายก่อน และพยายามป้องกันไม่ให้คนที่มีอาการป่วยเข้ามาในตึกใหญ่ และหากพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายต้องสงสัย ก็จะถูกคัดแยกไปอยู่อีกโซนหนึ่งเพื่อคัดกรองอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งมีส่วนของการป้องกันอย่างชัดเจน

ส่วนเรื่องที่ถือว่าเป็นปัญหาของทางโรงพยาบาลก็ครือเรื่องของหน้ากากอนามัย แม้ว่าจะมีงบประมาณในการซื้อแต่ไม่มีของขาย ทางโรงพยาบาลจึงต้องมาคิดหาวิธีในการแก้ไขในจุดนี้ว่าจะทำอย่างไร ตอนนี้สั่งซื้อไปแล้ว 1 ล้านกว่าชิ้นตั้งแต่ต้นปี ซึ่งภายใน 2 เดือนนี้ พึ่งได้รับหน้ากากอนามัยเข้ามเพียงแค่ 10,000 ชิ้น แต่ก็ยังมีของที่อยู่ในส่วนของพัสดุเหลืออีกเพียง 18,000 ชิ้น ถ้าใช้กันตามปกติ จะใช้วันละประมาณ 4,000 ชิ้น จะใช้ได้เพียงประมาณ 1 อาทิตย์ในสถานการณ์ปกติ แต่ขณะนี้เป็นสภาวะไม่ปกติเพราะมีการขาดแคลนของหน้ากากอนามัย และบางส่วนก็มีคนสะสมไว้ใช้ ก็เหมือนกับหลายโรงพยาบาลที่เคยมีข่าวปรากฎออกมาว่า มีการสั่งซื้อแต่ไม่มีของ ดังนั้น หน้ากากอนามัยที่มีอยู่ จึงจะนำไปให้กับบุคลากรที่มีความเสี่ยงใช้ก่อนเป็นอันดับแรก ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในระหว่างคัดกรองว่าเป็นไวรัสโควิด 19 หรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ว่าบุคลากรทุกคนไม่สำคัญ แต่ต้องนำไปใช้ให้กับคนที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในจุดเสี่ยงก่อน

เมื่อก่อนที่จะมาใช้หน้ากากอนามัยในปัจจุบัน ก็เคยใช้หน้ากากผ้ากันมาก่อนเช่นกัน ซึ่งในส่วนของห้องผ่าตัด ที่ถือว่ามีความเสี่ยงน้อย ก็อาจจะปรับไปให้ใช้หน้ากากผ้าแทน เนื่องจากแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ รวมถึงตัวผู้ป่วยก็มีการคัดกรองมาแล้ว เมื่ออยู่ในห้องผ่าตัด ก็เป็นห้องที่ถูกควบคุม ดูแลเรื่องของความสะอาด แม้ว่าหน้ากากผ้าจะป้องกันโรคติดเชื้อไม่ได้ แต่ก็สามารถป้องกันโรคที่ไม่เกี่ยวกับโรคติดเชื้อได้ระดับหนึ่ง อีกทั้งห้องผ่าตัดก็เป็นการผ่าตัดรักษาคนทั่วไป ไม่ได้รักษาอาการของคนที่เป็นโรคติดเชื้อ แต่หากเป็นการผ่าตัดผู้ป่วยติดเชื้อ ก็จะนำหน้ากากให้บุคลากรใส่ ดังนั้น จึงเก็บหน้ากากอนามัยไปใช้ในจุดที่มีความเสี่ยงก่อน ในการป้องกันบุคลากรก่อน ซึ่งก็คาดหวังว่าหน้ากากอนามัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถยืดเวลาในการใช้ที่เหลือประมาณ 1 สัปดาห์ ให้ออกไปได้มากกว่า 10 วัน แต่หากหลังจากนี้มีการส่งมาให้ใช้วันละ 10,000 ชิ้น ก็จะให้บุคลากรใช้ได้ตามปกติเหมือนทุกวัน แต่ถึงตอนนี้ยังไม่มีก็ต้องบริหารจัดการก่อน

เรื่องมาใหม่