วันอาทิตย์, 19 พฤษภาคม 2567

ชาวแม่สะเรียงวอนทบทวนการขอประทานบัตรเหมืองแร่ ป่าตัวอย่าง ป่าต้นน้ำ ต้องมาถูกทำลาย ยันคัดค้าน 100%

Social Share

ชาวแม่สะเรียงวอนทบทวนการขอประทานบัตรเหมืองแร่ เผย ป่าชุมชนบ้านโป่งดอยช้างคืนความอุดมสมบูรณ์เป็น ป่าตัวอย่าง ป่าต้นน้ำ ต้องมาถูกทำลาย ยันคัดค้าน 100%

วันที่ 6 กรกฏาคม 2566 ป่าชุมชนบ้านโป่งดอยช้าง ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในอนาคต หากได้รับการประทานบัตร พบว่าป่าไม้ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์มาก ซึ่งในอดีต 20 กว่าปีที่ผ่านมา พื้นที่บริเวณนี้เคยมีการทำเหมืองมาแล้วก็ตาม แต่ในปัจจุบันธรรมชาติได้ฟื้นตัวกลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน ที่ชาวบ้านช่วยกันรักษาต้องมาถูกทำลายเพราะการทำเหมืองแร่อีกครั้ง ถูกต้องแล้วหรือ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวน ย้ำชัดคัดค้าน ไม่ขอซ้ำรอยเดิม

ภายหลังจากที่แกนนำภาคประชาชน เดินหน้าสู้เต็มสูบในการคัดค้าน การขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขต รอยต่อระหว่าง บ้านโป่งดอยช้าง หมู่ 13 ต.บ้านกาศ และ บ้านแพะ หมู่ 3 ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดย นายทองทิพย์ แก้วใส ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนสายใต้ ก่อนเดินทางพา ตัวแทนพี่น้องประชาชนชาวแม่สะเรียง ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เข้าพบ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในวันนี้เวลา 10.00 น.

นายทองทิพย์ แก้วใส ตัวแทนภาคประชาชนชาวอำเภอแม่สะเรียง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไหมพื้นที่ป่าบ้านโป่งดอยช้าง จึงถูกจัดว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม เพราะตั้งแต่อดีตเมื่อ 20 ปีกว่าที่ผ่านมาเคยเป็นเหมืองเก่า (2540) แต่ ปัจจุบันป่าได้รับการดูแลจากชาวบ้าน ได้ฟื้นคืนกลับมาเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าชุมชนของบ้านโป่งดอยช้าง ที่ได้ร่วมกันจัดตั้งกฎระเบียบในการป้องกัน อนุรักษ์ รักษาผืนป่า และ เป็นป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชน มายาวนานจนตั้งแต่การยกเลิการทำเหมืองเก่า อีกทั้งหลังจากการดูแลผืนป่าของชาวบ้านตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้ ป่าชุมชนบ้านโป่งดอยช้างได้รับรางวัล ป่าชุมชนตัวอย่างในระดับจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากการประกวดป่าชุมชน โครงการ กล้ายิ้ม “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน”ประจำปี 2553 ซึ่งร่วมขับเคลื่อนโดยกรมป่าไม้

การเดินทางขึ้นพบผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน อุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ ทางป่าไม้แม่ฮ่องสอน ครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้า ภายหลังได้ยื่นเรื่องคัดค้านว่ามีผลอย่างไรบ้าง ทางท่านผู้ว่าฯมีแนวทางช่วยเหลือความเดือดร้อนของคนแม่สะเรียง อย่างไร ในส่วนของ อุตสาหกรรมจังหวัด ประเด็นเรื่องการขอประทานบัตรมีการขออนุญาติถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามขั้นตอนระเบียบหรือไม่ แม้ว่าประชาชนในพื้นที่สัมปทานจะไม่มีพื้นที่ที่มีโฉนดตามหลักเกณฑ์แต่ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบโดยตรงด้านอื่นๆที่ส่งผลกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ยาวนาน และ ทางด้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ก็จะถามว่าจริงๆ แล้วพื้นที่ป่าที่ได้รับการประทานบัตรนั้น เป็นป่าเสื่อมโทรมจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนชาวแม่สะเรียงต้องการที่จะรู้คำตอบ ทั้งนี้ ชาวแม่สะเรียง ได้มีการร่วมตัวคัดค้านและยื่นหนังสือผ่านอำเภอแม่สะเรียง และมีการเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนการคัดค้านอย่างชัดเจนต่อเนื่องมา ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม พร้อมกันนี้ได้ มีการทำประชาคม 6 หมู่บ้าน ทั้งหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงของการได้รับผลกระทบ ประกอบไปด้วย บ้านโป่งดอยช้าง บ้านแพะ บ้านนาคาว บ้านทุ่งพร้าว บ้านท่าข้าม บ้านป่ากล้วย ซึ่งชาวบ้านมีความเห็นพ้องต้องกัน 100% ในการร่วมคัดค้านการขอประทานเมืองแร่ในครั้งนี้

สำหรับพื้นที่การขอประทานบัตร ตามใบอนุญาตขอทำเหมืองแร่อยู่ในพื้นที่เขตรอยต่อระหว่าง บ้าน โป่งดอยช้าง ต.บ้านกาศ และบ้านแพะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน บนเนื้อที่ 132-0-97 ไร่ เป็นพื้นที่ขอประทานบัตร 1/2565 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง) โดยทางบริษัทได้ทำการลงพื้นที่พบปะพี่น้องบ้านโป่งดอยช้างล่าสุด เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 การลงพื้นที่ของบริษัทฯ ในครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อห่วงใยชาวบ้านในรัศมีการดำเนินการของเหมืองแร่ในรัศมี 500 เมตร โดยทีมงานวิศวกรเมืองแร่ของบริษัทฯ โดยระบุว่าพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ไม่มีแหล่งโบราณ คดี หรือแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และ 3

ตัวแทนชาวบ้านระบุว่า บริเวณจุดสัมปทานบัตรกับพื้นที่ชุมชนและตัวอำเภอแม่สะเรียงห่างกันไม่ถึง 1 กิโลเมตร ชาวบ้านย่อมมีความกังวลผลกระทบที่จะได้รับไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการส่งผลกระทบต่อป่าที่ถูกทำลาย มลพิษทางอากาศ หรือ มลพิษทางเสียง แรงสั่นสะเทือนของการระเบิด ซึ่งรัศมีการกระจ่ายของฝุ่นละอองจะสร้างความเดือดร้อนไปทั่วแม่สะเรียงอย่างแน่นอน ประกอบกับพื้นที่ใกล้จุดประทานบัตร มีส่วนราชการ สถานที่สำคัญ อาทิ โรงเรียน วัด โบสถ์ โรงพยาบาล ซึ่งหากมีการประทานบัตรในระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ย่อมส่งกระทบถึงรุ่นลูกลูกหลานอย่างแน่นอน เหมือนคนแม่สะเรียงต้องตายทั้งเป็น จึงเป็นเรื่องที่ต้องรวมตัวกันคัดค้าน เพื่อไม่ให้เกิดการทำเหมืองแร่ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง อย่างแน่นอน

เรื่องมาใหม่