วันอังคาร, 21 พฤษภาคม 2567

แม่ฮ่องสอน เตรียมทดสอบระบบการแจ้งเผาในพื้นที่ ทั้ง 7 อำเภอ บริหารจัดการพื้นที่สีเขียว green hotspot

Social Share

เตรียมทดสอบระบบการแจ้งเผาในพื้นที่ ทั้ง 7 อำเภอ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว green hotspot หรือการชิงเผาซึ่งได้รับการอนุญาต ซึ่งจะเป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่มีมาตรการควบคุมการกำจัดเชื้อเพลิงอย่างเป็นระบบ

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับมอบหมาจาก นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เป็นประธานศูนย์ WARROOM จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือ คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีมาตรการที่จะควบคุมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงไฟป่าในพื้นที่ทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์ WARROOMจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมีการทดลองระบบการแจ้งเตือนการชิงเผาในพื้นที่ หรือที่เรียกว่า การบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว green hotspot ก่อนที่จะมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างเป็นระบบตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567

สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว green hotspot หรือการชิงเผาซึ่งได้รับการอนุญาต จะทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีการบริหารจัดการเชื้องเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพและควบคุมการเผาในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบันพบว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 5 วัน ซึ่งปัจจัยหนึ่งเกิดจากปัญหาหมอกควันข้ามแดน และการเกิดจุดความร้อนมากที่สุดอยู่ที่อำเภอปาย มีมากกว่า 35 จุด และมาตรการ green hotspot จะทำให้รู้ว่า จุดความร้อนที่เกิดขึ้นเกิดจากการลักลอบจุดไฟเผาป่า หรือการบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยจะมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ทางการเกษตร

ศปก.ไฟป่า ทส. (ส่วนหน้า ภาคเหนือ) ขอส่งรายงานข้อมูล hotspot จากดาวเทียม Suomi NPP (ระบบ VIIRS) 17 จังหวัดภาคเหนือ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 รอบเช้า เวลา 01.42 น.จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบจุดความร้อน จำนวน 42 จุด ประกอบด้วย อ.ปาย 29 จุด , อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 10 จุด , อ.ขุนยวม 1 จุด และ อ.สบเมย 2 จุด และเกิดจุดความร้อน สูงที่สุดกว่าจังหวัดอื่นในภาคเหนือ 17 จังหวัด

สรุปสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 จุดความร้อนประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 (เมื่อวานนี้) จำนวน 66 จุด จุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 654 จุด สูงสุดที่อำเภอปาย จำนวน 423 จุด โดยเกิดขึ้นสูงสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 383 จุด

คุณภาพอากาศประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567

  • ค่า PM2.5 สถานีอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เท่ากับ 57.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานเกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ)
  • ค่า PM2.5 สถานีอำเภอแม่สะเรียง เท่ากับ 39.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานเกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ)
  • ค่า PM2.5 สถานีอำเภอปาย เท่ากับ 52.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานเกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ)

นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอแม่สะเรียง ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันแก้ไขไฟป่าหมอกควัน เพื่อสร้างความเข้าใจ ให้แก่ ประชาชนในพื้นที่ บ้านท่าข้าม หมู่ที่ 1 และ บ้านโป่งดอยช้าง หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากราษฎรในพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ให้เหมาะสมกับพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงต่อไป

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำสร้างความมั่นใจ กรณี มีความจำเป็นราษฎรในพื้นที่ สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิง(เผา) ในพื้นที่ทำกิน ที่อยู่ในเขตป่า เช่น ไร่หมุนเวียน พื้นที่เพาะปลูกอื่นๆ ตามแนวทางที่ทางราชการกำหนด เช่น การจัดทำแนวกันไฟ การจัดการเชื้อเพลิงเมื่อมีความพร้อม และระยะเวลาที่เหมาะสม คือ ช่วงระหว่าง 15:00 น. ถึง 18:00 น. โดยแจ้งกำนันผู้ใหญ่บ้านฯ และหน่วยป่าไม้พื้นที่รับผิดชอบทราบก่อนทุกครั้ง เป็นต้น

Cr. ฉลอง หมั่นสกุล