สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม ออกแบบระบบโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ กองบิน 2 โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพจากระบบหมักย่อยขยะอินทรีย์แบบแห้ง ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย
เมื่อวันที่ (6 กรกฎาคม 2561) พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ กองบิน 2 กองทัพอากาศ ณ กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี โดยมี พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายหร่อหยา จันทรัตนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน และนายผดุงศักดิ์ หาญปรีชาสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ร่วมเป็นเกียรติในพิธี
โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ กองบิน 2 เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพจากระบบหมักย่อยขยะอินทรีย์แบบแห้ง ซึ่งถือเป็นโครงการต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย โดยกองทัพอากาศได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมเบื้องต้นด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งออกแบบระบบของโครงการฯ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ในการสร้างเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าสำหรับการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานภายในกองบิน 2 และกระจายพื้นที่การใช้ประโยชน์เทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดต้นแบบและแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพจากการหมักย่อยขยะอินทรีย์แบบแห้งขนาดเล็กให้กับชุมชนอีกด้วย
สำหรับการดำเนินโครงการฯ เป็นการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อจัดการขยะ ซึ่งกำลังแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และราชอาณาจักรสวีเดน เป็นต้น ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างน้อยเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีแบบอื่น โดยอาศัยกระบวนการหมักย่อยสลายทางชีวภาพจากจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์หรือความสกปรก ทำให้ความสกปรกลดลงและได้ก๊าซชีวภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยขยะอินทรีย์ที่คัดแยกออกมาได้จะถูกนำเข้าระบบหมักย่อย ส่วนขยะประเภทอื่น เช่น โลหะหรือพลาสติกที่ย่อยสลายยาก จะถูกคัดแยกและรวบรวมไปจัดการต่อไป
โดยสามารถแยกกระบวนการทำงานได้เป็น 4 ระบบ ได้แก่
1. ระบบบริหารจัดการขยะ ด้วยการใช้เทคนิคการแยกวัสดุออกจากกัน สามารถแยกขยะออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1) ขยะส่วนที่หนัก (Heavy Fraction) ได้แก่ โลหะ ไม้ ขวดพลาสติก และวัสดุอนินทรีย์ที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ 2) ขยะส่วนที่เบา (Light Fraction) จะถูกส่งต่อไปแยกขยะ เช่น กระดาษ และถุงพลาสติก 3) ขยะส่วนที่ละเอียด ขยะส่วนที่เหลือมาจะถูกส่งไปตามสายพานและแยกชิ้นส่วนโลหะขนาดเล็กที่ปะปนด้วยเทคนิคแยกวัสดุด้วยแม่เหล็กดูด เช่น เศษฝาเบียร์ ตะปู ออกไป โดยทุกๆ ขั้นตอนในระบบแยกขยะ จะมีระบบดูดกลิ่นและฝุ่นละออง เพื่อลดกลิ่นและการฟุ้งกระจายของฝุ่นภายในอาคาร
2. ระบบผลิตก๊าซชีวภาพ ในขั้นตอนต่อไป ขยะอินทรีย์จะถูกนำไปหมักย่อยในถังปฏิกรณ์แบบแห้ง โดยมีปริมาตร 900 ลบ.ม. รองรับอัตราการป้อนวัสดุหมัก 10 ตัน/วัน สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้วันละ 1,550 ลบ.ม./วัน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้วันละ 2,500 หน่วย โดยก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นจะถูกกักเก็บไว้ในบอลลูนพลาสติกแบบ 2 ชั้น อยู่ส่วนบนของบ่อหมัก สามารถกักเก็บก๊าซชีวภาพได้ 800 ลบ.ม. รองรับแรงดัน 2,000 Pascal สำหรับตะกอนส่วนที่ย่อยสลายไม่หมดจากระบบก๊าซชีวภาพ จะถูกนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยดูดส่งไปที่ระบบหมักย่อยแบบปิดที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ เช่น น้ำซะขยะ น้ำเสียจากศูนย์กสิกรรม และน้ำส่วนหนึ่งที่หมักย่อยแล้วจะถูกสูบไปพ่นในระบบหมักย่อยแบบแห้ง เพื่อสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการทำงานของจุลินทรีย์ในถังหมัก Hybrid Biogas Digester
3. ระบบบำบัดก๊าซ กรองก๊าซ ดูดก๊าซ และระบบเผาก๊าซ จากนั้น ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ จะถูกนำไปเก็บในถังสำรองก๊าซชีวภาพ โดยมีการติดตั้งถังควบคุมแรงดัน ซึ่งถ้ามีก๊าซส่วนเกินที่เหลือใช้ หรือไม่ได้นำมาผลิตไฟฟ้าในบางช่วงเวลา จะถูกนำไปเผาทิ้งอัตโนมัติที่ชุดเผาทิ้งก๊าซชีวภาพ ก๊าซที่อยู่ในถังสำรองนี้ จะถูกนำมาปรับปรุงคุณภาพก่อนนำมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า Hydrogen sulfide เพื่อดักฝุ่น ไอน้ำและก๊าซไข่เน่า
4. ระบบผลิตและส่งไฟฟ้า ก๊าซชีวภาพที่รวบรวมไว้จะถูกผลิตกระแสไฟฟ้าผ่านเครื่องยนต์ขนาด 250 kW จำนวน 2 ชุด และส่งไปที่หม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 800 kva 3 phase 50 Hz เพื่อใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่กองบิน 2 ต่อไป
ทั้งนี้ หากโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต คาดว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าให้กับกองบิน 2 ได้ประมาณ 180,000 บาทต่อเดือน และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ ตลอดจนสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับข้าราชการและครอบครัวของกองบิน 2 ที่สำคัญยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า หากระบบไฟฟ้าหลักเกิดความเสียหายหรือไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ กองบิน 2 จะยังคงมีระบบไฟฟ้าสำรองเพื่อดำรงภารกิจด้านความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากนโยบายผู้บัญชาการทหารอากาศ ปี 2560 – 2561 ได้กำหนดเป้าหมายแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน รวมทั้งการอนุรักษ์พลังงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อพัฒนาหน่วยงานระดับกองบินและโรงเรียนการบิน ให้เป็น “Smart Wing” ด้วยเทคโนโลยี “Smart Grid” ที่จะบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้สามารถตอบสนองต่อการปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่ใช้ทรัพยากรที่น้อยลง (Doing More with Less) รวมทั้งมีความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย ความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกองบิน 2 จะเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนของกองทัพอากาศ ให้เป็น “Smart Wing 2” ต่อไป
เรื่องมาใหม่
- สนง.ชลประทานที่ 1 จัดโครงการกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- กรมสุขภาพจิต ส่งทีม รพ.สวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุดินสไลด์ จ.เชียงใหม่ และน้ำท่วม จ.เชียงราย
- สภ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ออกปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่ หมู่ 9 บ้านสันป่าไหน่ ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และประชาสัมพันธ์เส้นทางสัญจรให้กับประชาชนในพื้นที่
- ผบช.ภ.5 กำชับตำรวจร่วมดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมเป็นสำคัญ ภ.จว.เชียงราย เร่งตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วม ประสานงานช่วยเหลือประชาชน ตำรวจพร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่
- สภ.แม่จัน จ.เชียงราย ทำกระสอบทรายช่วยเหลือประชาชน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงในพื้นที่ และนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม