วันพฤหัสบดี, 9 พฤษภาคม 2567

(คลิป) เชียงใหม่ ไม่มีผู้ป่วยโควิดรายใหม่เพิ่ม แต่มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย

Social Share

14 เม.ย. 63 : ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจ จ.เชียงใหม่ (ศ.ข.ฉ.ก.) ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นพ.วรเชษฐ์ เต๋ชะรัก ผอ.โรงพยาบาลนครพิงค์ ร่วมกันแถลงข่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม แต่มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย พร้อมวิธีจัดการศพผู้เสียชีวิตไม่ให้ขัดกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า วันนี้โรงพยาบาลนครพิงค์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตรและความดันสำหรับเด็กโตถึงผู้ใหญ่ ยี่ห้อ Drager รุ่น Evita V300 จำนวน 1 เครื่อง เพื่อใช้ในการดูแลรักษษผู้ป่วยวิกฤตไวรัสโควิด-19

ทางโรงพยาบาลนครพิงค์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตลอดจนประชาชนชาวเชียงใหม่ รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ โดยโรงพยาบาลนครพิงค์จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ในการดูแลช่วยเหลือชีวิตประชาชนที่ได้รับผลกระทบวิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กองงานในพระองค์ฯ จัดส่งหน้ากากอนามัย N95 และหน้ากากอนามัยทางไปรษณีย์ จำนวน 505 ชิ้น มอบแก่แพทย์ และบุคลากร โรงพยาบาาลแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนในอำเภอแม่ออน และอำเภอใกล้เคียงอย่างหาที่สุดมิได้

จังหวัดเชียงใหม่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ถือเป็นวันที่ 6 แล้วที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยอดสะสมทั้งหมด 40 ราย กลับบ้านแล้ว 19 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 20 ราย และเสียชีวิต 1 ราย หากรักษาให้อยู่ในสถิติที่ไม่พบเจอผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14 วัน ก็จะเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง ก็จะเป็นทางให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้พิจารณาว่า จะผ่อนคลายข้อกำหนดในเรื่องต่างๆ ลงไปบ้าง เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ ที่ผ่านมาต้องขอบคุณพี่น้องชาวเชียงใหม่และผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ทุกท่าน ที่ให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้กำหนดขึ้น ทำให้สถานการณ์ในจังหวัดดีขึ้น ทุกๆ กระบวนการไม่ว่า การปิดสถานที่ การกำหนดข้อปฏิบัติ มาตรการการตรวจและคัดกรองตามเส้นทางเข้าสู่จังหวัดในทุกเส้นทาง ไม่ว่าจะเส้นทางอากาศ ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ หรือจุดคัดกรองที่สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง และจุดคัดกรอง 6 จุด ที่เข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทางรถยนต์ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จิตอาสา ประชาชน ได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่คัดกรอง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่

คณะกรรมการโควิด ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ มีการปิดพื้นที่และค้นหาผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ เฝ้าดูและให้กำลังใจผู้ที่กักตัว 14 วัน ทำได้อย่างดียิ่ง รวมถึงการปฏิบัติตนในการป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้ปัจจุบันไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ กราฟของการติดต่อของโรคนิ่งแบบนี้ ก็ดีใจมาก แต่ช่วงนี้ก็ยังมีการเฝ้าระวังควบคู่กันไป จนกว่าสถานการณ์ของโรคนี้จะคลี่คลายและมียาป้องกัน

นพ.วรเชษฐ์ เต๋ชะรัก ผอ.โรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าวว่า กรณีของผู้เสียชีวิตเมื่อคืน เป็นหญิง อายุ 65 ปี เดิมรักษาตั้งแต่มีอาการป่วย 15 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา มีอาการป่วยหลายโรคทั้งความดัน และโรคไตระยะสุดท้าย ก็เป็นโรคที่รักษาอยู่ก่อนแล้ว หลังจากป่วยและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ แล้วมีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีการพบเชื้อในวันที่ 18 มีนาคม 2563 แล้วได้ย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ตั้งแต่วันที่พบการติดเชื้อ ในช่วงแรกคนไข้มีอาการปอดบวม แล้วได้รับยาต้านไวรัสทุกชนิด ทุกขนานที่มีอยู่ แต่ระหว่างที่รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลก็มีปัญหาเรื่องไตวายเรื้อรัง ก็กำเริบหนักขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องทำการผ่าตัดใส่สายเพื่อฟอกไต ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งอาการก็ทรงตัวอยู่ กระทั่ง 1 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ก็มีภาวะโรคแทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้น มีการติดเชื้อในกระแสเลือด หลังจากนั้นในช่วงเช้าของวันที่ 13 เม.ย. 63 ก็เริ่มมีอาการแย่ลง แต่ที่จริงผู้ป่วยรายนี้ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจมาประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว จนถึงเวลา 19.00 น.เศษของวันที่ 13 เม.ย. 2563 ก็เสียชีวิต ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งการจัดการหลังจากนี้ ก็ได้พูดคุยกับทางญาติแล้ว ก็จะได้มอบศพให้กับญาตินำกลับไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีต่อไป

ก็อยากให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่า ในกรณีของการจัดการศพ ก็ได้ทำตามมาตรฐาน ของกระทวงสาธารณสุข ได้มีการห่อในถุงบรรจุอย่างดี ดังนั้น การปนเปื้อนไปสู่ชุมชนนั้นจะไม่มี ซึ่งสามารถทำพิธีกรรมทางศาสนาได้ตามปกติ แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็อาจจะไม่สะดวกในเรื่องของการจัดพิธี ทางญาติก็จะทำแบบเรียบง่ายและบำเพ็ญกุศลศพไม่นาน ตอนนี้ก็เก็บรักษาศพอยู่ที่โรงพยาบาลนครพิงค์อยู่

เรื่องมาใหม่