วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

(มีคลิป) มช.เปิด “สถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า” จากโซลาร์เซลล์ แห่งแรกในภาคเหนือและเป็นแห่งแรกในเชียงใหม่

06 ส.ค. 2018
1361
Social Share

มช.เปิด “สถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า” จากโซลาร์เซลล์ แห่งแรกในภาคเหนือและเป็นแห่งแรกในเชียงใหม่ ก้าวสู่ CMU Smart City-Clean Energy มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด

ช่วงเช้า (02 สิงหาคม 2561) ที่บริเวณด้านหน้าอาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ประธานในพิธีเปิดสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากโซลาร์เซลล์ โดยมี รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย , บริษัท สากล เอนเนอยี่ จำกัด, กองทัพอากาศ เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้

โดยสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) จากพลังงานโซลาร์เซลล์ สนองยุทธศาสตร์ Green and Clean ; Sustainability University มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันนำร่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สู่การใช้งานสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม โดยรถยนต์ 1 คัน สามารถชาร์จไฟฟ้าวิ่งได้ระยะทางมากกว่า 150 กิโลเมตรต่อครั้ง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะโลกร้อนได้มากถึงร้อยละ 20

ในการดำเนินงานโครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณหลักจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจาก บริษัท สากล เอนเนอยี่ จำกัด และบริษัท บาร์เซโลน่า ออโต้ จำกัด โดยภายในงานมีผู้ทรงคุณวุฒิจากกองทัพอากาศ เข้าร่วมสังเกตการณ์ในฐานะ Partner โครงการ CMU Smart City / RTAF Smart Wing และจัดให้มีพิธีบันทึกความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระหว่างกองทัพอากาศและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักถึงความสำคัญ ด้านการบริหารจัดการระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในระบบที่ให้ความสำคัญในการดำเนินงานคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการจราจรและขนส่งมวลชน ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในมหาวิทยาลัย ครอบคลุมถึงระบบรถไฟฟ้าและการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้า โดยมีนโยบายในการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ด้วยการลดใช้รถยนต์และจักรยานยนต์ภายในมหาวิทยาลัย จึงได้จัดบริการรถไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ จำนวน 60 คัน คันละ 12 ที่นั่ง

ออกวิ่งรับผู้โดยสาร วนรอบมหาวิทยาลัยทั้งหมด 5 สาย ทุกวันไม่เว้นวันหยุด คิดเป็นระยะทาง 6,660 กิโลเมตรต่อวัน หรือ 2,023,400 กิโลเมตรต่อปี รองรับผู้โดยสารได้จำนวนสูงสุด 16,700 ต่อวัน หรือ 5,097,024 คนต่อปี จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศได้มากถึง 3,034 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อวัน หรือ 601,500 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าปีละประมาณ 70 ล้านบาท การนำ “สถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า” จากโซลาร์เซลล์ มาใช้คาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายได้สูงประมาณ 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านการใช้ไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยได้

ขณะนี้สถานีชาร์จแห่งนี้ ยังถือเป็นสถานีแห่งแรกของภาคเหนือ และของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย เพราะมีตู้ชาร์จแบบเร็ว ถึง 2 หัวชาร์จ และแบบช้าอีก 1 หัวชาร์จ ซึ่งชาร์จแบบเร็ว จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ก็สามารถให้รถวิ่งต่อไปได้ แต่ถ้าเป็นแบบช้าก็จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งสถานีชาร์จที่อยู่ตามห้างหรือสถานีจุดอื่นๆ เท่าที่พบจะเป็นแบบการชาร์จได้ช้ากว่าสถานีแห่งนี้ และได้เปิดให้ประชาชนที่ใช้แบบไฮบริด หรือรถที่ชาร์จด้วยไฟฟ้า นำรถมาชาร์จไฟได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไประยะเวลา 1 ปี ฟรี

นอกจากนี้การใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มมากขึ้นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังถือเป็นการเข้าสู่การบริหารจัดการที่ดีและพัฒนาสู่ความเป็นสากลตามยุทธศาสตร์ Green and Clean; Sustainability University มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม CMU Smart City-Clean Energy มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ดำเนินงาน “โครงการจัดสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ขึ้น

โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินงานศึกษาวิจัย ออกแบบและจัดสร้างสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า (Charging Station) จากพลังงานโซลาร์เซลล์ ติดตั้งไว้ ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ และผลักดันให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลายเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (SMART CITY) เป็นต้นแบบที่สำคัญให้กับนักศึกษา บุคลากร หน่วยงานต่างๆ และสังคม หันมาช่วยกันให้ความตระหนัก และให้ความสำคัญถึงประโยชน์ของการใช้พลังงานทดแทนภาคการขนส่งมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และนำไปสู่การใช้พลังงานของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย เริ่มตื่นตัวและมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยมียานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในประเทศไทย 103,702 คัน แบ่งเป็น ยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งแบบไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด(Plug-in Hybrid Electric Vehicle) 102,308 คัน และยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle) 1,394 คัน

โดยสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) จากพลังงานโซลาร์เซลล์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถูกออกแบบและติดตั้งให้สามารถรองรับรองรับยานยนต์ได้ทั้งรถแบบ Hybrid ที่มีการใช้ไฟฟ้าร่วมกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน Plugin Hybrid (PHEV) และรถไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้า 100% (All Electric Car) เครื่องอัดประจุดไฟฟ้าเป็นแบบที่มีหลายหัวจ่ายไฟฟ้าในชุดเดียว โดยมีหัวอัดประจุดแบบ CHAdeMO, CCS Combo2 และ AC Type2 ซึ่งรองรับทั้งการอัดประจุดแบบปกติ (Normal Charge และ Quick Charge) เป็นไปตามมาตรฐานนานาชาติ รองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ติดตั้งหัวจ่ายกระแสไฟฟ้าตามมาตรฐานยุโรปและญี่ปุ่น

ใช้เวลาในการชาร์จแต่ละครั้งประมาณ 30-40 นาที สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 5 ที่นั่ง วิ่งได้ระยะทางมากกว่า 150 กิโลเมตรต่อครั้ง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึงร้อยละ 20 นับเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานสีเขียวที่สำคัญ ที่จะช่วยผลักดันให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อยอดความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยการหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกการใช้พลังงาน ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่ CMU Smart City-Clean Energy มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เรื่องมาใหม่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ไมโครชิพ ช่วยนักพัฒนาเร่งการออกแบบโหนด IoT ระยะไกล ด้วยผลิตภัณฑ์ตระกูล LoRa(R) System-in-Package ที่ใช้พลังงานต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม
Infineon เปิดตัวชุดซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สสำหรับ TPM 2.0 เพิ่มความปลอดภัยการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและยานยนต์
“MI SHOP by แม่วังสื่อสาร” เปิดแล้ววันนี้ ที่เซ็นทรัล แอร์พอร์ต
“วิศวกรรมแห่งชาติ 2561” ร่วมโชว์นวัตกรรมวิศวกรรม เพื่อให้คนไทยก้าวทันเทคโนโลยีและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดแก่สังคมไทย
วสท. เปิดงาน ‘วิศวกรรมแห่งชาติ 2018’ อย่างยิ่งใหญ่
ไซปรัสจับมือ VeChain Foundation และ CREAM พัฒนาฟินเทคและบล็อกเชนในไซปรัส