วันอังคาร, 30 เมษายน 2567

สถาบันฯ พลังงานนครพิงค์ มช. นำระบบ Real Time Power Monitoring จัดการพลังงานแห่งแรกที่วชิรวิทย์เชียงใหม่

09 มิ.ย. 2018
1087
Social Share

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. นำ Smart Energy Saving “ระบบตรวจติดตามการใช้พลังงาน” แบบ Real Time Power Monitoring เก็บข้อมูล วางแผนการบริหารจัดการพลังงาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายพลังงานในสถานศึกษา เริ่มใช้แห่งแรกที่โรงเรียนวชิรวิทย์ เชียงใหม่

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สนับสนุน สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินงานโครงการสาธิตการพัฒนาวิธีตรวจติดตามการใช้พลังงานภายในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยระบบ Real Time Power Monitoring เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์พลังงานภายในสถานศึกษา และประชาสัมพันธ์การสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรมให้แก่นักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียน 10 โรงเรียนต้นแบบ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยศธนา คุณาทร รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เริ่มดำเนินงานโครงการมาตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2559 – สิงหาคม 2560 โดยได้ดำเนินงานโครงการนำร่องติดตั้งระบบ Real Time Power Monitoring แห่งแรก ณ โรงเรียนวชิรวิทย์ ตำบลหนองป่าครั่ง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

จากการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลประหยัดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า พบว่าในปี 2559 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน โรงเรียนวชิรวิทย์ เชียงใหม่ มีผลการใช้ปริมาณไฟฟ้า 207,148 kWh คิดเป็นเงินจำนวน 1,021,538 บาท เมื่อเปรียบเทียบในปี 2560 ในช่วงเวลาเดียวกัน การติดตั้งระบบ Real Time Power Monitoring สามารถช่วยให้โรงเรียนลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ปริมาณ 170,652 kWh คิดเป็นเงินจำนวน 814,913 บาท ช่วยประหยัดเงินค่าไฟฟ้าได้มากถึง จำนวน 206,625 บาท

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ติดตั้งระบบ Real Time Power Monitoring ให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ อื่นๆ อีกรวม 10 แห่ง ทำให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในโรงเรียนได้ดีขึ้น ส่งผลให้ในปี 2559 จากเดิมปริมาณการใช้ไฟฟ้ารวมทั้ง 10 โรงเรียน เท่ากับ 648,717 kWh เมื่อทำการติดตั้งระบบ Real Time Power Monitoring แล้วในปี 2560 ช่วยให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงเหลือ 567,125 kWh ลดลง 81,592 kWh คิดเป็นร้อยละ 12.58 เห็นผลประหยัดพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

และยังได้จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการพลังงาน โดยการใช้ระบบ Real Time Power Monitoring ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์และวางแผนการใช้พลังงานผ่านกิจกรรมเชิงสันทนาการ และการจัดการประกวดสื่อรณรงค์การอนุรักษ์พลังงานภายในโรงเรียน เพื่อกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการประหยัดพลังงานของคนในโรงเรียนอีกด้วย

ระบบ Real Time Power Monitoring เป็นระบบที่สามารถบันทึกผลการใช้พลังงานไฟฟ้าทุกๆ 5 นาที และแสดงผลสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในอาคารผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งสามารถเรียกดูผ่านอุปกรณ์ Smart Devices ได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารองค์กรหรือเจ้าของอาคาร ทราบสัดส่วนการใช้พลังงานในแต่ละพื้นที่ของอาคาร สามารถนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับจำนวนคนที่อยู่ในอาคาร ขนาดของพื้นที่ หรือกิจกรรมต่างๆ ว่ามีความเหมาะสมกับปริมาณการใช้พลังงานหรือไม่

ทำให้ผู้บริหารขององค์กรหรือเจ้าของอาคาร สามารถวางแผนการบริหารจัดการพลังงานและกำหนดมาตรการอนุรักษ์พลังงานภายในหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ข้อมูลภาพ-ข่าว : สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ไมโครชิพ ช่วยนักพัฒนาเร่งการออกแบบโหนด IoT ระยะไกล ด้วยผลิตภัณฑ์ตระกูล LoRa(R) System-in-Package ที่ใช้พลังงานต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม
Infineon เปิดตัวชุดซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สสำหรับ TPM 2.0 เพิ่มความปลอดภัยการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและยานยนต์
“MI SHOP by แม่วังสื่อสาร” เปิดแล้ววันนี้ ที่เซ็นทรัล แอร์พอร์ต
“วิศวกรรมแห่งชาติ 2561” ร่วมโชว์นวัตกรรมวิศวกรรม เพื่อให้คนไทยก้าวทันเทคโนโลยีและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดแก่สังคมไทย
วสท. เปิดงาน ‘วิศวกรรมแห่งชาติ 2018’ อย่างยิ่งใหญ่
ไซปรัสจับมือ VeChain Foundation และ CREAM พัฒนาฟินเทคและบล็อกเชนในไซปรัส