วันจันทร์, 6 พฤษภาคม 2567

แม่ฮ่องสอนจัดงาน “เทศกาลนาฏยแห่งศรัทธา กิ่งกะหร่า น้อมบูชา วิสาขปุรณมี” มหกรรมนกกิ่งกะหร่า ตัวโต 4 จังหวัดภาคเหนือและประเทศเมียนมา

Social Share

แม่ฮ่องสอนจัดงาน “เทศกาลนาฏยแห่งศรัทธา กิ่งกะหร่า น้อมบูชา วิสาขปุรณมี” มหกรรมนกกิ่งกะหร่า ตัวโต จาก 4 จังหวัดภาคเหนือและประเทศเมียนมา

วันที่ 3 มิถุยายน 2566 จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดกิจกรรม “มหกรรมรวมพล ยลนก – ชมโต จังหวัดแม่ฮ่องสอน” และ “เทศกาลนาฎยแห่งศรัทธา กิ่งกะหร่า น้อมบูชาวิสาขปุรณมี” ซึ่งมีขบวนนกกิ่งกะหร่า กว่า 300 ชีวิต เดินผ่านกลางเมืองเพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชมความงดงามของการนกกิ่งกะหร่าในแต่ละพื้นที่ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย

ที่โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจอง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานพิธีเปิด “เทศกาลนาฏยแห่งศรัทธา กิ่งกะหร่า น้อมบูชา วิสาขปุรณมี” กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย ขบวนแห่นกกิ่งกะหร่า – ตัวโต เพื่อการแสดงมหกรรมนกกิ่งกะหร่า ตัวโต จาก 4 จังหวัดภาคเหนือและตัวแทนนกกิ่งกะหร่า ตัวโต จากประเทศเมียนมา จํานวนกว่า 300 ตัว การแสดงนิทรรศการ องค์ความรู้ นกกิ่งกะหร่า ตัวโต จังหวัดแม่ฮ่องสอน และนกกิ่งกะหร่า ตัวโต ล้านนาจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา การประกวดรำนกกิ่งกะหร่า และรำโต การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ การจัดตลาดวัฒนธรรม การสาธิตและจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ และการสาธิตภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนจุดเช็คอิน ถ่ายภาพ เพื่อสร้างกระแส และประชาสัมพันธ์การจัดงาน

ทั้งนี้ ด้วยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับการคัดเลือกงานเทศกาล “นาฏยแห่งศรัทธา กิ่งกะหร่า น้อมบูชา วิสาขปุรณมี” จากกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยสำนักงานวัฒนธรรมแม่ฮ่องสอน ได้ดำเนินงานโดยบูรณาการร่วมกับกิจกรรมมหกรรม รวมพล ยลนก-ชมโต จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามโครงการสืบสานต่อยอดมรดก วัฒนธรรม ศิลปะสร้างสรรค์ นกกิ่งกะหร่า ตัวโต เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยกำหนดจัดงาน ในระหว่างวันที่ 2-4 มิถุนายน 2566ณ โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

สำหรับการแสดงรำนกกิ่งกะหร่า – ตัวโต เป็นการแสดงที่มีอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ซึ่งมีความโดดเด่น สวยงาม ทั้งการแต่งกาย ท่วงท่าร่ายรำ ดนตรีประกอบ สมควรได้รับการยกระดับให้เป็น ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี ไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย สามารถเป็นทุนทางวัฒนธรรมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมรายได้ระดับพื้นที่ต่อไป