วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

ชลประทานเชียงใหม่ เร่งตรวจสอบความพร้อมป้องกันอุทกภัย มั่นใจป้องกันได้ตลอดลำน้ำปิง

Social Share

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 3 ก.ย. 64 นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ติดตามงานการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในปี 2564 ในเขตสำนักงานชลประทานที่ 1 โดยมีนายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมคณะ ร่วมลงพื้นที่ตรวจติดตามระบบการเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์น้ำของแม่น้ำปิงที่สถานีตรวจวัดระดับน้ำ P.1 สะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปริมาณน้ำขณะนี้ก็มีปริมาณที่อยู่ในค่าเกณฑ์ที่สูง จากนั้นได้เดินทางไปสำรวจแนวคันกั้นน้ำปิงบริเวณหน้าฝายพญาคำ (ฝายท่าศาลา) เพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัย ก่อนจะเดินทางไปสำรวจแนวคั้นกั้นน้ำปิงฝั่งขวาบริเวณใต้สะพานข้ามน้ำปิงถนนมหิดล (สำนักงานตำรวจภูธรภาค 5) บ้านป่าพร้าวนอก และเดินทางไปที่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล เพื่อตรวจดูการบริหารจัดการน้ำในช่วงน้ำหลาก การกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำในแม่น้ำปิง รวมถึงระบบการสั่งการควบคุมบานประตูระบายน้ำด้วยระบบ IOT ที่สามารถสั่งงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในระยะไกลได้

ต่อมาทางคณะได้เดินทางไปที่ฝายชลขันธ์พินิต (ฝายน้ำปิงเก่า) อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเตรียมการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำปิงช่วงน้ำหลาก การเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในลุ่มน้ำแม่ทา ลุ่มน้ำแม่กวง เพื่อไม่ให้กระทบตั้งแต่พื้นที่ตัวเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ ไปจนถึงบริเวณท้ายน้ำที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจ และมีการเพาะเลี้ยงปลากระชังเป็นจำนวนมาก รวมถึงการใช้ประโยชน์จากน้ำในแม่น้ำปิงเพื่อผลิตน้ำประปา น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรของพี่น้องประชาชนด้วย

ด้าน นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน จากการตรวจสอบสภาพอาคาร สภาพลำน้ำ ลำคลองทั้งหมดที่ได้รับรายงานมา จึงได้เดินทางมาติดตามสถานการณ์ โดยดูสภาพลุ่มน้ำปิงตอนบนถึงแม้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ก็ยังน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ยังมีปริมาณน้ำไม่มากนัก แต่ทางชลประทานยังสามารถบริหารจัดการได้ แต่หากน้ำหลากในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ไหลเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเขตสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ จะทำให้ตัวเมืองเชียงใหม่ถูกโจมตีด้วยน้ำที่มาจากทางเหนือ คือลำน้ำปิง และลำน้ำแตง ที่มาจากด้านเหนือและไม่มีเขื่อนเก็บกัก และลำน้ำปิงที่มีจุดตรวจวัดระดับน้ำที่สำคัญได้แก่ P.67 ที่บ้านแม่แต หากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือได้ตรวจพบว่าบริเวณจุดตรวจวัดดังกล่าวมีปริมาณน้ำ 3.7 – 4 เมตร ทางชลประทานก็จะรีบแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนทั้งสองฝั่งในตัวเมืองเชียงใหม่

การเตรียมความพร้อมนั้น ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ซึ่งอยู่ในความดูแลของโครงการชลประทานเชียงใหม่ จะเป็นตัวกำหนดว่าปริมาณน้ำมีเท่าไหร่ จะยกประตูระบายน้ำสูงเท่าไหร่ เพื่อบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากและไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจของตัวเมืองเชียงใหม่ทั้งสองริมฝั่งแม่ลำน้ำปิง ขณะเดียวกันก็มีการเตรียมความพร้อมในด้านการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ กำจัดวัชพืชที่จะทำให้การไหลของน้ำช้าลง และส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำ ซึ่งได้ดำเนินการเรียบร้อยและมีความพร้อมเตรียมรับมือด้านอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นหากมีฝนตกหนักในพื้นที่

การบริหารจัดการน้ำในช่วงเพาะปลูกของปีนี้ ช่วงฤดูฝนมีการบริหารจัดการน้ำ 490,000 ไร่ ขณะนี้มีการปลูกเต็มพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ และการบริหารจัดการน้ำก็เป็นไปตามแผนทุกอย่าง ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อน้ำอุปโภค บริโภค การผลิตน้ำประปาอย่างแน่นอน