วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

3 ปี เสียหายกว่า 100 ล้านบาท ผบ.ตร. สั่งปราบปรามการแสวงหาประโยชน์จากประชาชน โดยมิชอบในการจัดหางาน

Social Share

ตามนโยบายของสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (สบนร.) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ประสานงาน เร่งรัด ติดตามและสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการแสวงหาประโยชน์จากประชาชนโดยมิชอบในการจัดหางาน โดยมุ่งเน้นสืบสวนปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการปราบปรามการแสวงหาประโยชน์จากประชาชน โดยมิชอบในการจัดหางาน ที่เป็นการหลอกลวงประชาชน อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการค้ามนุษย์ การฉ้อโกง ปัญหาผีน้อย รวมทั้งอาชญากรรมประเภทอื่นๆ อันส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นวงกว้าง และเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศ โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมบูรณาการกำลังร่วมกับ สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมการจัดหางาน โดยกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นหน่วยงานในการดำเนินคดี

ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.อ.สุวัฒน์  แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้อำนวยการสั่งการให้ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์  สุขวิมล ผบช.ก., พล.ต.ต.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.สยาม บุญสม ผบก.ปคม., พ.ต.อ.อภิรักษ์ เวชกาญจนา รอง ผบก.ปคม., พ.ต.อ.ฐากูร นิ่มสมบุญ รอง ผบก.ปคม. ได้ร่วมกันแถลงสรุปผลการปฏิบัติ การปราบปรามการแสวงหาประโยชน์จากประชาชนโดยมิชอบในการจัดหางาน โดยการปฏิบัติการ เป็นการดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่แสวงหาประโยชน์จากแรงงาน โดยการหลอกลวงแรงงานเหล่านี้ว่า สามารถส่งไปทำงานที่ต่างประเทศได้  โดยเฉพาะช่วงโควิด ซึ่งคนตกงานเยอะ กลุ่มผู้หลอกลวงเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคดีที่เกิดขึ้นก็ตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหา ได้ใช้ social media โดยเฉพาะ Facebook ในการโฆษณาจัดหางานโพสเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งจากสถิติของกรมการจัดหางานในช่วงปี 2561-2563 ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์กว่า 1,500 เรื่อง และมีมูลค่าความเสียหายกว่า 100,000,000 ล้านบาท

โดยการทำงานแบ่งเป็น 2 ระยะ ใช้ระยะเวลารวม 3 เดือน คือเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2563 – 30 ก.ย.2563 ระยะแรกใช้เวลา 1 เดือนในการตรวจสอบเป้าหมาย สืบสวนพิสูจน์ตัวบุคคล รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อระบุตัวบุคคล โดยสามารถสืบสวนพบเป้าหมายกว่า 200 ราย และระยะที่ 2 ใช้เวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2563- 30 ก.ย.2563 สามารถติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้กว่า 130 ราย ในข้อหา โฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งศาลได้พิพากษา ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท โดยให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ทุกคดี

สำหรับแผนประทุษกรรมของกลุ่มผู้ต้องหา จะมาโพสใน Facebook ชักชวนให้คนไปทำงาน โดยจะสร้างความน่าเชื่อถือ โดยโพสรูปการทำงาน โพสรูปเงินทอง หรือ หลอกลวงว่ารายได้ดี งานสบาย เมื่อมีแรงงานหลงเชื่อติดต่อไป ก็จะมีตั้งแต่การขอค่าดำเนินการต่างๆ/ขอค่าเครื่องบิน โดยจะได้รายได้ ประมาณ 10,000 – 20,000 บาทต่อราย  นอกจากนี้ยังมีคดีที่เกิดขึ้นที่สำคัญๆ เช่นคดีบริษัท KINGDOM สร้างความน่าเชื่อถือให้กับแรงงาน โดยจัดตั้งเป็นบริษัท มีที่อยู่ชัดเจน มีเพจ  Facebook หรือ ไลน์ที่น่าเชื่อถือ

การดำเนินการสืบสวนดำเนินคดีจับกุมผู้ต้องหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ทำให้การกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว ลดน้อยลง และขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ผู้ที่จะไปทำงานในต่างประเทศได้รับรู้ถึงแผนประทุษกรรมดังกล่าว สามารถที่จะป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้ โดยถ้าหากพบการโฆษณาจัดหางานในต่างประเทศในช่องทางต่างๆ แล้วสงสัยว่าเป็นการดำเนินการจัดหางานโดยได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ ให้ตรวจสอบการจดทะเบียนกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยแรงงานที่ต้องการไปทำงานที่ต่างประเทศแบบถูกต้องตามกฎหมาย สามารถสอบถามรายละเอียดได้เช่นเดียวกัน

ฐานความผิดในคดีนี้ ตาม พรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2537

1.) ห้ามมิให้ผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง มาตรา 30 (ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

2.) การโฆษณาการจัดหางานให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา 66 (ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

3.) ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง (ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)