วันจันทร์, 6 พฤษภาคม 2567

ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน สั่งการแก้จุดวิกฤตสะพานน้ำแม่ลาน้อย ป้องกันฝนตกหนัก อุทกภัยในพื้นที่

Social Share


ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สั่งการแก้จุดวิกฤตสะพานน้ำแม่ลาน้อย หลัง ลงพื้นที่ อ.แม่ลาน้อย ให้จัดชุดเฝ้าระวังสถานการณ์ระยะสั้น และวางแผนออกแบบฝายขุดลอกลำน้ำในระยะยาว กำชับทุกส่วนบูรณาการกำลังป้องกันจุดเสี่ยงภัยพิบัติอย่างเต็มที่

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมคณะตรวจติดตามการเตรียมความศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ลงพื้นที่ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เข้าพบปะกับศูนย์ฯ ของอำเภอ ผู้นำชุมชน หน่วยราชการในพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่ที่เกิดเหตุขึ้นจริง การสะท้อนปัญหาของผู้นำชุมชน รวมถึงจุดเสี่ยงหรือจุดเปราะบางต่อการเกิดสถานการณ์รุนแรงในแต่ละตำบล พร้อมแนวทางให้การช่วยเหลือและการเตรียมความพร้อมเบื้องต้น โดยอำเภอได้ตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุ ที่ กองร้อย อสที่ 5 รับแจ้งเรื่องภัยพิบัติ ตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงฤดูฝน ในพื้นที่อ.แม่ลาน้อย มักเกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากจากพื้นที่สูงชัน ส่งผลให้น้ำป่าซัดถนนพังเสียงหาย ถนนขาด สะพานขาด ดินสไลด์ บางพื้นที่เคยมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น มักจะจุดเดิมที่เกิดปัญหาซ้ำซาก นอกจากนี้ บางหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ การสัญจรไปมาเวลากลางคืนเป็นไปอย่างลำบาก เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติซ้ำ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มักประสบกับภัยพิบัติตามวงรอบในแต่ละปี ประกอบกับพื้นที่เป็นภูเขา พื้นที่ลาดชัน ในปีนี้ฝนมาเร็วและมีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา ในพื้นที่อำเภอแม่ลาน้อยมีความคล้ายกับอำเภอแม่สะเรียง คือ มีแม่น้ำแม่ลาน้อยไหลผ่าน โดยมีจุดวิกฤตบริเวณสะพาน หมู่ที่ 1 ต.แม่ลาน้อย จุดนี้ในช่วงที่มีน้ำป่าไหลหลากน้ำจะพัดพาเศษกิ่งไม้ ท่อนไม้มากีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำไหลเอ่อท่วมหน้าสะพาน ในเบื้องต้นอำเภอแม่ลาน้อย ประสานกับอปท.ในพื้นที่ จัดชุดเฝ้าระวังสถานการณ์ หากไม่สามารถแก้สถานการณ์ได้ทันหรือปริมาณน้ำมามากหากสุ่มเสี่ยงในการล้นตลิ่ง จะใช้การวางกระสอบทรายแก้ไขเบื้องต้น ส่วนในระยะยาวต้องแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เนื่องจากแม่น้ำแม่ลาน้อยไม่ได้รับการขุดลอกมาเป็นระยะเวลานาน จึงมีแผนที่จะขุดลอก โดยมอบหมายให้อปท.ออกแบบ เพื่อขออนุญาตกรมเจ้าท่า และจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการต่อไป รวมถึงอาจมีการสร้างฝายเป็นช่วงๆ ในพื้นที่ที่เป็นจุดเศรษฐกิจจะมีการออกแบบเขื่อนป้องกันตลิ่งเพิ่มเติม

ดังนั้น จึงขอความร่วมมือบูรณาการความร่วมมือร่วมใจทุกหน่วยงาน ให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือสถานการณ์ วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ให้ดีที่สุด สูญเสียน้อยที่สุด ทุ่มเทให้เต็มกำลัง ลดความเสียหายทั้งพื้นที่ทางด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ส่วนความคืบหน้าโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) อยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม จะเร่งรัดอย่างรวดเร็วที่สุด คาดว่าหมู่บ้านเป้าหมายจะมีไฟฟ้าใช้ในปี 2567 ส่วนหมู่บ้านที่เหลือจะดำเนินการคู่ขนานใช้โซลาร์เซลล์