ผู้ตรวจ กกต.แม่ฮ่องสอน รณรงค์การเตรียมความพร้อม สร้างความรับรู้กระบวนการเลือก สว.ให้กับภาคส่วนและสื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม

Social Share

ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน รณรงค์การเตรียมความพร้อม สร้างความรับรู้กระบวนการเลือก สว.ให้กับภาคส่วนและสื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม

วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 น.ที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายกิตธนรัช พ่วงภิญโญ ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยนางสาวจันทร์แรม จิละถา ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมประชุมกับสื่อมวลชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เขตอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน มีนายชีวิน ศรัทา ประชาสัมพันธ์จังหวัดแม่ฮ่องสอนให้การต้อนรับ โดยมีสื่อมวลชนจากหลากหลายแขวงร่วมให้การต้อนรับ ทั้งสื่อวิทยุ สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อบุคคล และสื่อออนไลน์ โดยผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน เดินทางมาแนะนำตัว ในโอกาสเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อแนะนำตัว และการปฏิบัติงานในหน้าที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมทั้งการรณรงค์การเตรียมความพร้อม สร้างความรับรู้กระบวนการเลือก สว.ให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเช่น กำนัน ผู้ใหญ่ ผู้นำชุมชน รวมถึงสื่อมวลชนท้องถิ่น

ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ในการลงพื้นที่เพื่อสอดส่องการรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา ในหลายอำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้การดำเนินการเลือกในระดับอำเภอและจังหวัดเป็นไปด้วยความสุจิต โปร่งใส ตรวจสอบได้พบว่า ทั้งนี้เบื้องต้นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมีการลงพื้นที่ เพื่อไปติดตามการสมัครของผู้สมัคร สว ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อไปว่าจะมีการเข้าข่ายผิดกฏหมายหรือไม่

ทั้งนี้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้สมัคร สว.จาก 20 สาขาอาชีพ รวมจำนวน 269 คน โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่กว้าง และมีความยากลำบากในการเดินทางระหว่างอำเภอ ใน 7 อำเภอ แต่ก็เชื่อมั่นว่า การเลือก สว ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนในครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

สำหรับ ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง มีหน้าที่หลักดังนี้

  1. ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง เช่น ผู้อำนวยการประจำเขต กรรมการประจำเขต กรรมการประจำหน่วย หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น โดยสามารถแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานให้ กกต. ทราบโดยเร็ว
  2. ตรวจสอบการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  3. เข้าไปในที่เลือกตั้ง หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง เพื่อสังเกตการณ์หรือเมื่อมีเหตุอื่นใดที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม
  4. ปฏิบัติงานอื่นตามระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติของ กกต. และตามที่ได้รับมอบหมาย

Cr. ฉลอง หมั่นสกุล