วันอาทิตย์, 10 พฤศจิกายน 2567

มทร.ล้านนา ส่งมอบเวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภค บริโภคจากเครือข่าย อว. แก่ผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่

17 ต.ค. 2024
122
Social Share

มทร.ล้านนา ส่งมอบเวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภค บริโภคจากเครือข่าย อว. แก่ผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมวางแนวทางฟื้นฟูหลังน้ำลด

วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ณ สนามด้านหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี ผศ.สิษฐ์ วิมลธนสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผน นโยบายและยุทธศาสตร์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ศิรประภา ชัยเนตร ผู้ช่วยอธิการบดี และ อาจารย์อัคคสัจจา ดวงสุภาสิญจ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ได้ร่วมกันส่งมอบผลิตภัณฑ์และสิ่งของจำเป็นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ สิ่งของที่ส่งมอบประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้า เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และสิ่งของอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ที่ได้รับการบริจาคจากเครือข่ายสถาบันการศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงพันธมิตรภาครัฐและเอกชน โดยผลิตภัณฑ์ขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้รับการสนับสนุนจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการนี้

คุณศรีพรรณ หลุยจำวัล นายกสโมสรโรตารีสารภีเชียงใหม่ ได้เข้ารับมอบสิ่งของในนามของสโมสรโรตารีสารภีเชียงใหม่ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ต่อไป
นอกจากการให้ความช่วยเหลือในช่วงน้ำท่วมแล้ว ผศ.สิษฐ์ วิมลธนสิทธิ์ ได้กล่าวถึงแนวทางการฟื้นฟูหลังน้ำลดที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินการต่อไปว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาได้เตรียมแผนการฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำลดอย่างครบวงจร โดยจะเน้นใน 4 งานหลัก คือ”
1. การประกอบอาหาร และผลิตน้ำดื่มแจกจ่ายผุู้ประสบภัย
2. การฟื้นฟูทำความสะอาดที่อยู่อาศัย โดยกลุ่มจิตอาสาของมหาวิทยาลัย
3. การซ่อมสร้างเครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบน้ำ ระบบไฟ มหาวิทยาลัยจะจัดส่งคณาจารย์และนักศึกษาจากคณะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การตรวจสอบระบบไฟฟ้า และการฟื้นฟูอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
4. การสร้างอาชีพใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยมีแผนการจัดอบรมอาชีพใหม่ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

โดยจะร่วมมือกับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐในการจัดอบรมทักษะใหม่ ๆ เช่น การแจกจ่ายเมล็ดพันธ์ุผักสวนครัว จากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์ การผลิตสินค้าชุมชน และการพัฒนาอาชีพในด้านการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้ชุมชนสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนายังคงมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในการช่วยเหลือชุมชน ไม่เพียงแต่ในช่วงวิกฤตเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนกลับมาเข้มแข็งและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติในเร็ววัน