วันอังคาร, 30 เมษายน 2567

(คลิป) รัฐมนตรีฯ ยุติธรรม เยี่ยมทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เตรียมลดความแออัดด้วยกำไล EM นำมาใช้จริง ก.ย.นี้

Social Share

18 ก.ค. 63 : นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะได้เดินทางตรวจเยี่ยมทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นางอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และคณะให้การต้อนรับ จากนั้นได้เดินทางไปยังบริเวณห้องโถงชั้น 2 เพื่อมอบโอวาทให้กับผู้ต้องขังหญิง ก่อนจะมอบเครื่องอุปโภค ของใช้สำหรับเด็กเล็กที่คลอดในทัณฑสถานหญิง และร่วมประชุมเพื่อรับฟังแนวทางการปฏิบัติ ปัญหาและอุปสรรค พร้อมมอบนโยบายให้กับทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

นางอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ กล่าวรายงานว่า ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เป็นเรือนจำต้นแบบในการดำเนินงานตามข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้ต้องขังหญิง ปัจจุบันมีผู้ต้องขังหญิงในควบคุม จำนวน 2,284 คน มีผู้ต้องขังใน พ.ร.บ.ยาเสพติด จำนวน 84.79 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมอาชีพให้ผู้ต้องขัง จำนวน 17 หลักสูตร ได้แก่นวดแผนไทยและสปา อาหารไทย ขนมไทย เสริมสวย การทอผ้าไหม ทอผ้าพื้นเมือง เป็นต้น ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมวิชาชีพ จำนวน 1,500 คนต่อปี โดยมีโครงการสำคัญได้แก่โครงการฝึกอาชีพทอผ้าไหม ตามโครงการพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนนักโทษ เป็นนักทอ สู่นักปราชญ์” โดยร่วมกับสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมและสิ่งทอ จนได้รับตรานกยูงพระราชทาน นกยูงสีทอง นกยูงสีน้ำเงิน นกยูงสีเขียว โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการฝึกวิชาชีพได้นำออกจำหน่ายบุคคลทั่วไป ภายใต้แบรนด์ “นารี” และมีโครงการฝึกวิชาชีพลักษณะพิเศษ ภายใต้ความร่วมมือจากบริษัท Carcel Made in prison -IVS ประเทศเดนมาร์ค ช่วยฝึกอาชีพสร้างรายได้ และศูนย์ฝึกทักษะอาชีพ “เรือนพระธำมรงค์” ที่ฝึกนวดแผนไทยและสปา บริการอาหารและเครื่องดื่ม จนได้รับประกาศนียบัตรการบริการยอดเยี่ยมจาก Tripadvisor 5 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2015 – 2019 ที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิดก็ได้ตัดเย็บหน้ากากอนามัย ออกจำหน่ายด้วย สร้างรายได้ให้กับผู้ต้องขังระหว่างต้องโทษ และเก็บออมไว้ภายหลังพ้นโทษ รายได้จากเงินรางวัลปันผลเฉลี่ย 400 – 500 บาทต่อคนต่อเดือน

สำหรับปัญหาในปัจจุบันของทัณฑสถานหญิง ยังคงมีเพียงอย่างเดียวคือ เรื่องของบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข และได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน พร้อมเตรียมนำเทคโนโลยีนาโนบับเบิ้ลมาใช้ในการบำบัดน้ำเสียด้วย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้โอวาทกับผู้ต้องขังหญิงว่า ผู้ต้องขังทั่วประเทศนั้นเรือนจำ ทัณฑสถานหญิง รองรับได้ 220,000 กว่าคน แต่ปัจจุบัน 370,000 กว่าคน ถือว่ามีจำนวนที่มาก และส่วนใหญ่มาจากเรื่องยาเสพติด ปัจจุบันการดำเนินการต้องเปลี่ยนไปแบบ New Normal หากใครอยากค้าก็ค้าไป แต่เจ้าหน้าที่จะตามจับกุมและยึดทรัพย์ทั้งหมด รวมถึงทรัพย์สินที่ให้กับครอบครัว และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เมื่อท่านค้าท่านก็จะไม่มีเงินเมื่อพ้นโทษออกไป และทรัพย์สินก็ต้องถูกยึด สุดท้ายท่านก็จะไม่เหลืออะไร อดีตยาบ้าผลิตได้วันละพันเม็ด ปัจจุบันวันละ 6.9 ล้านเม็ด ปัญหาส่วนใหญ่ก็จะมาจากเรื่องรายได้ และองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพ เมื่อมีผู้ต้องขังจำนวนมาก็เกิดความแออัดของเรือนจำ และทัณฑสถานหญิง ซึ่งจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ ฝึกอาชีพ เพื่อให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไปได้มีอาชีพทำอย่างสุจริต แต่หากท่านทำผิดอีกก็ต้องกลับมาอีก ทางกระทรวงยุติธรรม และทางรัฐบาลก็เห็นชอบด้วยการจะนำกำไล EM มาใช้ในเดือนกันยายน 63 นี้ แต่ก็มีผู้ต้องขังบางคนที่อาจจะกลัว หวาดระแวงการกลับไปอยู่กับสังคม ถูกมองจากการใส่กำไลข้อเท้า แต่ทุกอย่างก็ต้องมีการปรับตัว และปฏิบัติตามเงื่อนไข เพื่อให้ท่านได้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ก็จะลดความแออัดของเรือนจำได้ สิ่งสำคัญอยากให้ทุกคนทำบัญชีครัวเรือนเป็น เช่น บุคคลในบ้านสูบบุหรี่วันละ 1 ซอง ราคาซองละ 90 บาท ในหนึ่งปีเสียเงิน 32,850 บาท หากนำไปซื้อข้าวสารก็ได้ถึง 2 ตัน ในหนึ่งวันบริโภคในครัวเรือนไม่เกินวันละ 2 กิโลกรัม หนึ่งปีบริโภคข้าวสารไปเพียง 1.1 ตันเท่านั้น ยังน้อยกว่าค่าบุหรี่เกือบครึ่งหนึ่ง เมื่อทุกคนทำบัญชีครัวเรือนเป็น ก็จะเห็นรายได้สิ่งที่ควรประหยัด และจะมีเงินเก็บ

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การสนับสนุนของจังหวัดเชียงใหม่สำหรับทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ก็จะมีการส่งเสริมให้ “เรือนพระธำมรงค์” ที่เป็นสถานที่ฝึกนวดแผนไทยและสปา และบริการด้านอาหาร ส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ต้องขังมีรายได้ เป็นการฝึกอาชีพ และสถานที่ก็อยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสะดวกต่อนักท่องเที่ยวที่ต้องการท่องเที่ยวแบบสุขภาพด้วย นอกจากนี้ก็เตรียมเป็นตัวกลางประสานกับหน่วยงานด้านมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่จะสามารถเพิ่มนำองค์ความรู้ทางด้านวิชาการต่างๆ มาเสริมทักษะให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ และทัณฑสถานหญิง ทางจังหวัดก็พร้อมจะเป็นตัวกลางประสานหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ให้