วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

กรมสุขภาพจิต เปิดประชุมระดับประเทศ พบผู้ใช้โซเชียลมีเดีย 51 ล้านคน เสี่ยงโรคซึมเศร้า เครียด ฆ่าตัวตายสูง

24 ก.ค. 2019
749
Social Share


กรมสุขภาพจิต เปิดประชุมระดับประเทศ ครั้งที่ 18 พบผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวน 51 ล้านคน เสี่ยงโรคซึมเศร้า เครียด แนวโน้มฆ่าตัวตายสูง สาเหตุมาจากปัญหาเทคโนโลยี สังคม และเศรษฐกิจ

24 ก.ค. 62 : นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 18 ประจำปี 2562 เรื่อง โลกเปลี่ยนไป : มิติใหม่สุขภาพจิต (Mental Health in a Changing World : The New Challenges) และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “โลกเปลี่ยนไป : มิติใหม่สุขภาพจิต” โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต และผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย บุคลากรทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนเครือข่ายระดับนานาชาติ จำนวน 1,200 คน เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมเข้าถึงองค์ความรู้ที่ทันสมัยเหมาะกับสภาพการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต เกิดความร่วมมือ และเสริมสร้างแรงบันดาลใจต่อการทำงานด้านสุขภาพจิต ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายทางวิชาการระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกรมสุขภาพจิต รูปแบบการประชุมประกอบด้วยการบรรยาย อภิปราย ประชุมเชิงปฏิบัติการ นำเสนอผลงานวิชาการ และนิทรรศการ

นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในโลกยุคปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไม่สามารถแยกออกจากชีวิตได้ การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้น ทั้งคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ จากข้อมูลสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตของไทย จากจำนวนประชากร 69.24 ล้านคน พบว่า มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 57 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 82 มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวน 51 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 74 และมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียผ่านมือถือ จำนวน 49 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71 ตลอดจนใช้เวลาในการเข้าอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยต่อวัน คิดเป็น 9 ชั่วโมง 11 นาที และใช้เวลาในการเข้าโซเชียลมีเดียโดยเฉลี่ยต่อวัน คิดเป็น 3 ชั่วโมง 11 นาที ถึงแม้ว่าการใช้โซเชียลมีเดียจะมีประโยชน์ในการทำให้ผู้คนสามารถติดต่อกันง่ายขึ้น รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่การใช้สื่อโซเชียลมีเดียติดต่อกันหลายชั่วโมงในแต่ละวัน อาจส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพจิตในหลายด้าน เช่น การนอนหลับไม่ดี เกิดความวิตกกังวล และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ เป็นต้น

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง คนบางกลุ่มสามารถปรับตัวเรียนรู้และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ในขณะเดียวกัน มีคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถปรับตัว ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก ได้แสดงความห่วงใยต่อสุขภาพจิตของผู้คนในยุคนี้อย่างมาก โดยให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษ และสภาพสังคมยุคไทยแลนด์ 4.0 พบว่า มีตัวแปรสำคัญ 5 ปัจจัย ที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น คือ

1. การเป็นสังคมผู้สูงอายุ 2. เด็กเกิดน้อย 3. วัยทำงานลดลง 4. การใช้โลกโซเชียลมากขึ้น เป็นสังคมก้มหน้า เด็กและวัยรุ่นติดเกม ผู้ใหญ่เครียด และ 5. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้คนไทยมีความอดทนต่ำ และมีพฤติกรรมการเสพติดเพิ่มขึ้น เช่น ติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

กรมสุขภาพจิตเปิดช่องทางให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ ปีที่แล้วมีคนขอเข้ามาปรึกษา 8 แสนกว่าราย ทางกรมสุขภาพจิตบริการได้ 70,000 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความเครียดในเรื่องทั่วไป ปัญหาครอบครัว การใช้ชีวิตประจำวัน การสื่อสารระหว่างกันและกัน เนื่องจากโลกเทคโนโลยีที่มันมาเร็ว พ่อแม่ไม่เข้าใจลูกที่ติดโซเชียลมากไป พ่อแม่ก็กังวลเกรงว่าลูกจะบริหารจัดการเวลาได้ไม่เหมาะสม เด็กที่ใช้เทคโนโลยีมากๆ ผลการเรียนก็ตกลงและถูกพ่อแม่ตำหนิก็ทำให้เกิดความเครียด

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทอูก้า และใช้แอพลิเคชั่นของบริษัทฯ มาให้คำปรึกษาด้านสุขภาพให้กับประชาชน และเป็นการสอดคล้องกับยุคปัจจุบันซึ่งปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอัตราการฆ่าตัวตาย ก็คิดว่าน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างปี พ.ศ. 2540 ที่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีผลกระทบ หลังจากนั้นปัญหาการฆ่าตัวตายก็มีมากขึ้น แต่ทางกรมสุขภาพจิต ทราบปัญหานี้ ก็ได้มีการคัดกรอง การให้คำปรึกษาในเรื่องนี้ ก็ทำให้ตัวเลขสถิติอัตราการฆ่าตัวตายภายใน 2 – 3 ปีนี้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และคิดว่าปีนี้แนวโน้มก็น่าจะเพิ่มขึ้นอีก ก็พยายามหามาตรการต่างๆ ให้เข้าไปแก้ไขอยู่ และในการประชุมทางวิชาการวันนี้ ก็จะได้หาวิธีการใหม่ๆ ในการมาใช้แก้ปัญหา

กลุ่มอายุที่เข้ามาปรึกษามากที่สุดเป็นกลุ่มวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่เข้าไปทำงาน และกลุ่มที่จะมากขึ้นมาก็เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ก็จะถูกปล่อยให้อยู่โดดเดี่ยวเนื่องจากคนอื่นไปทำงานกันหมด ระบบราชการก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนมากขึ้น ซึ่งคนที่ไม่ได้เข้าไปก็อาจจะมีปัญหาบ้าง บางคนเกษียณไปแล้วไม่มีงานทำ อยู่บ้านเฉยๆ เห็นคุณค่าของชีวิตตนเองน้อยลง แต่ปัจจุบันผู้สูงอายุก็ติดต่อกับเพื่อนผ่านทางโลกโซเชียลได้ ซึ่งเทคโนโลยีไม่ใช่ไม่ดีทั้งหมด แต่ต้องใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสมก็จะช่วยได้