วันศุกร์, 3 พฤษภาคม 2567

ดอนแก้ว เปิดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ภูมิปัญญาไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยว และอนุรักษ์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยให้คงอยู่

Social Share

22 เม.ย. 62 : นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ภูมิปัญญาไทย ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองสุขภาพ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 โดยมี นายอิศรา นานาวิชิต ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายนพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว นำโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว โฮมสเตย์ และชุมชมตำบลดอนแก้ว วิทยากรจากสมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ที่โรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

นายอิศรา นานาวิชิต ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวรายงานว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากประเทศไทยมีการแพทย์แบบดั้งเดิมที่สืบทอดทางภูมิปัญญามาเป็น ระยะเวลายาวนานกว่า 700 ปี มีเอกลักษณ์โดดเด่น ทรงคุณค่า และสามารถส่งเสริมสุขภาพและรักษาโรคต่างๆ ได้จริง

มีการใช้อย่างต่อเนื่องในชุมชนและครอบครัวตกทอดสู่ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน วิธีการทำงาน เป็นแนวทางสอดคล้องกับธรรมชาติ มีการใช้สมุนไพร หัตถการ วิถีชีวิต และความเชื่อต่างๆ ตามภูมิปัญญาที่สะสม ถ่ายทอดสืบต่อกันมา หากมิได้มีการอนุรักษ์ และนำมาใช้งานก็จะทำให้สูญหายไป วิธีการที่สำคัญที่จะทำให้คงอยู่ คือ การทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มและมีรายได้เชิงเศรษฐกิจ

ดังนั้น การนำมาประยุกต์ในการท่องเที่ยวจึงตอบโจทย์ทั้งการอนุรักษ์และสร้างรายได้ซึ่งตรงกับนโยบายของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ในการกำหนดตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) 3 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมล้านนา (Lanna Culture Tourism) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายรายได้ จากการท่องเที่ยว ปีละ 2.5 ล้านล้านบาท

โดยกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 มีรายได้จากการท่องเที่ยว ปี 2559 จำนวน 90,137 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.16 ดังนั้นกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 จึงได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองสุขภาพ ปี 2562 นี้

กิจกรรมการเปิดตัวการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ภูมิปัญญาไทย มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และสร้างรายได้แก่ชุมชน และสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ภูมิปัญญาไทย กิจกรรมประกอบด้วยการบรรยายความรู้การบริการ การฝึกปฏิบัติการเชื่อมโยงเรียนรู้วิถีชีวิต และการประเมินผล ผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 100 คน

แบ่งเป็นกลุ่มเข้าร่วมกิจกรรมตลอด 3 วัน จำนวน 35 คน ซึ่งจะได้เรียนรู้ศาสตร์การแพทย์แผนไทย อาทิ เช่น ปรัชญาการแพทย์แผนไทย การนวด การพอกตา แช่มือ แช่เท้า อบตัว การเผายา ตอกเส้น การย่ำขาง ย่างแคร่ และการนั่งถ่าน เข้ากระโจม เป็นต้น ในการรักษาโรคต่างๆ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง กลุ่มภูมิแพ้ ทางเดินหายใจ ผิวหนัง กลุ่มออฟฟิศซินโดรม และกลุ่มโรคทางเดินอาหาร กระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน คณะผู้จัดคาดว่าจะเกิดรูปแบบ การท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ การอนุรักษ์ภูมิปัญญา และเพิ่มรายได้ของชุมชนและประเทศต่อไป

นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ผมขอชื่นชมการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ของทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ จนถึงตำบลและชุมชน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจนทำให้โครงการส่งเสริม การท่องเที่ยวเมืองสุขภาพของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ดำเนินการมาได้ด้วยดี สุขภาพ ที่ดีเป็นที่ปรารถนาของทุกคนการนำศาสตร์การแพทย์แผนไทยแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ประชาชนในท้องถิ่นมีความคุ้นเคย เชื่อถือ มาอนุรักษ์ ฟื้นฟูจะทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ของชุมชน และยังสามารถให้บริการท่องเที่ยว ที่มีเอกลักษณ์นำรายได้เข้าสู่ชุมชน ตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง

ผมขอขอบคุณสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว โรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว ชุมชนตำบลดอนแก้ว สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา คณะเภสัชศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกัน จัดทำรูปแบบการให้บริการ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ภูมิปัญญาในครั้งนี้

ด้าน นายนพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว กล่าวว่า โรงพยาบาลชุมชนดอนแก้ว ได้ดำเนินการให้บริการทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย ด้วยหลักในการบริหาร โรงพยาบาลสร้างสุข 3 ดี 4 เสา นั่นก็คือ บริการดี สิ่งแวดล้อมดี และบริหารจัดการที่ดี โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว โรงพยาบาลชุมชนดอนแก้ว ชุมชน และอาสาสมัครเป็นเสาหลักในการดำเนินการ ด้วยหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้ตำบลดอนแก้ว เป็นตำบลสุขภาวะดี ทั้งทางกาย จิต สังคม และปัญญา ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้

นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ ให้เกิดการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย รวมทั้งสร้างรายได้แก่ชุมชน สร้างรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ภูมิปัญญาไทยให้เกิดขึ้นในพื้นที่อีกด้วย