วันศุกร์, 10 พฤษภาคม 2567

อุทยานฯ ศรีลานนา เร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและอยู่อาศัยของชาวบ้านในเขตพื้นที่เชียงดาว-พร้าว

Social Share

11 ก.ย. 62 : อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ร่วมกับส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) โครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกันเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ตามมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 เพื่อให้ราษฎรสามารถอยู่อาศัยทำกินและอยู่ร่วมกับป่าในเขตป่าอนุรักษ์ได้อย่างเกื้อกูลกัน

นายสมหวัง เรืองนิวัติศัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้รับรายงานจากนายภูพิชิต ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ว่า เมื่อวันที่ 10-11 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติศรีลานนา และส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ร่วมกันดำเนินการประชุมชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ให้แก่ราษฎรบ้านหลวง ม.6 ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ และราษฎรบ้านป่าตึงงาม ม.14 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา

ทั้งนี้ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน แต่สามารถอยู่อาศัยและทำกินได้ โดยการให้สิทธิในการทำกินแก่ราษฎรในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ภายในชุมชนเดิมในเขตป่าอนุรักษ์ ไม่มีการจัดการที่ดินแก่บุคคลภายนอกพื้นที่ ป้องกันนายทุนเข้ามาครอบครองที่ดินในเขตป่า ในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวเขตร่วมกันระหว่างราษฎรผู้ครอบครองที่ดินกับคณะทำงานสำรวจการครอบครองที่ดินระดับพื้นที่ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และผู้แทนภาคประชาชน โดยกำหนดเป็นเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ที่เป็นที่ตกลงและยอมรับร่วมกัน โดยให้ชุมชนร่วมกันดูแลรักษาป่า เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

นายสมหวัง กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ที่จะถึงนี้ มีเจตนารมณ์ เพื่อให้การสงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและอยู่อาศัยของราษฎรในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมากฎหมายอุทยานแห่งชาติ มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอยู่อาศัยและทำกินของราษฏรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ดังนั้น ตามมาตรา 64 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ถือเป็นโอกาสอันดีของพี่น้องประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องชาติพันธุ์ที่มีที่อยู่อาศัยและทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ ที่เป็นชุมชนเดิมและเป็นราษฎรในพื้นที่ จะสามารถอยู่อาศัยและทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติได้ โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ตามกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เพื่อให้การสงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พันธุ์ไม้ สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า และภูเขา ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลาย ได้กำหนดบทลงโทษไว้รุนแรงกว่าเดิมเช่นกัน หากฝ่าฝืนกระทำการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแล้ว จะต้องถูกดำเนินคดี ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000-2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นายสมหวังฯ กล่าว