วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

(มีคลิป) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ แนะวิธีพกพาวเวอร์แบงค์ให้ปล่อยก่อนขึ้นเครื่อง หลังเกิดระเบิดที่หน้าอาคารผู้โดยสารสนามบิน

26 ก.ค. 2019
1027
Social Share

26 ก.ค. 62 : ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เรืออากาศโท ธนันท์รัฐ ประเสริฐศรี รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ได้เปิดแถลงข่าวถึงเหตุการณ์แบตเตอรี่แบบพกพา (Power bank) ลุกไหม้ในกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารชาวต่างชาติ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 บริเวณชานชาลา หน้าอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศว่า เหตุการณ์ที่มีภาพข่าวออกไปในสื่อต่างๆ นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในขณะที่ผู้โดยสารต่างชาติชาวอเมริกัน รอขึ้นรถอยู่หน้าชานชาลา โดยผู้โดยสารรู้สึกร้อนที่บริเวณด้านหลัง และเห็นเปลวไฟที่กระเป๋าสะพายหลัง (กระเป๋าเป้) จึงได้โยนกระเป๋าทิ้ง พบว่าสาเหตุการลุกไหม้มาจากแบตเตอรี่ แบบพกพา จึงโยนทิ้งไว้บนพื้นและเกิดการลุกไหม้ต่อเนื่อง

จากการตรวจสอบพบว่าแบตเตอรี่แบบพกพาดังกล่าว เป็นแบตเตอรี่ ลิเธียมในตัวที่ใช้สำหรับอัดประจุพลังงานไฟฟ้า และคาดว่าจะทำปฏิกิริยากับของเหลว ซึ่งเป็นเครื่องสำอาง น้ำหอม หรือน้ำดื่มในกระเป๋าของผู้โดยสาร เมื่อของเหลวได้ไหลเข้าไปในพาวเวอร์แบงค์ ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี เกิดควันและเกิดการลุกไหม้ขึ้น ซึ่งที่ผ่านมานั้น การท่าอากาศยาน จะมีกฎที่ชัดเจนและขอความร่วมมือกับผู้โดยสารมาโดยตลอด ในเรื่องของการนำอุปกรณ์ที่มีขนาดแบตเตอรี่ลิเธียมเกินกว่าที่กำหนดนำขึ้นไปบนอากาศยาน และต้องนำติดตัวขึ้นเครื่องไปเท่านั้น ห้ามมีการโหลดไปพร้อมกับสัมภาระใต้ท้องเครื่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

สำหรับแบตเตอรี่สำรอง หรือพาวเวอร์แบงค์ มีข้อกำหนดค่าความจุไฟฟ้า ดังนี้ 1. ค่าความจุไฟฟ้า 100Wh หรือ 20,000mAH หรือปริมาณลิเธียมไม่เกิน 2 กรัม อนุญาตให้นำติดตัวขึ้นอากาศยานได้ไม่จำกัดจำนวนว่าขึ้นไปกี่ชิ้น แต่เพื่อความปลอดภัย ก็ได้กำหนดไว้ให้ไม่เกินคนละ 5 ชิ้น 2. ค่าความจุไฟฟ้า 100 – 160Wh หรือ 20,000 – 32,000mAH หรือปริมาณลิเธียมไม่เกิน 2 – 8 กรัม นำติดตัวขึ้นอากาศยานได้คนละไม่เกิน 2 ชิ้น ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากสายการบิน และ 3. ค่าความจุไฟฟ้ามากกว่า 160Wh หรือ 32,000mAH หรือปริมาณลิเธียมมากกว่า 8 กรัม ไม่อนุญาตให้นำขึ้นอากาศยานทุกกรณี

ส่วนประเภทแบตเตอรี่ที่อยู่ในอุปกรณ์ (Portable Electronic Device : PED) เช่น แบตเตอรี่สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ Laptop Hoverboard และ Airwheel เป็นต้น ได้กำหนดค่าความจุกำลังไฟฟ้า ดังนี้ 1. ความจุไฟฟ้าไม่เกิน 100Wh หรือ 20,000mAH หรือปริมาณลิเธียมไม่เกิน 2 กรัม สามารถ นำขึ้นอากาศยานได้ทั้งในสัมภาระติดตัวและสัมภาระโหลดใต้ท้องเครื่อง 2. ความจุไฟฟ้าไม่เกิน 100 – 160Wh หรือ 20,000 – 32,000mAH หรือปริมาณลิเธียมระหว่าง 2 – 8 กรัม สามารถนำขึ้นอากาศยานได้ ทั้งในสัมภาระติดตัวและสัมภาระโหลดใต้ท้องเครื่อง แต่ต้องได้รับอนุญาตจากสายการบิน และ 3.ค่ากำลังไฟฟ้ามากกว่า 160Wh หรือ 32,000mAH หรือปริมาณลิเธียมมากกว่า 8 กรัม ไม่อนุญาตให้นำขึ้นเครื่องบิน ทั้งนี้ ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การพาแบตเตอรี่ลิเธียมไปกับอากาศยาน พ.ศ.2559

หากแบตเตอรี่ลิเธียมที่ไม่ระบุพลังงานไฟฟ้า หรือขนาดบรรจุของลิเธียม หรือระบุไม่ชัดเจน จะไม่อนุญาตให้พาไปกับอากาศยานโดยเด็ดขาด ทั้งนี้การที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานทุกแห่งในสังกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท./AOT) รวมทั้งท่าอากาศยานทุกแห่ง ได้เข้มงวดในเรื่องดังกล่าว ก็เพื่อความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้โดยสารและอากาศยาน

ทาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ฝ่ายรักษาความปลอดภัย การท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า ภายหลังเหตุการณ์ ก็ได้มีการนำวัตถุที่เกิดเหตุไปทำการตรวจสอบ และได้ทำการทดสอบเบื้องต้น ก็ได้ตั้งข้อสันนิษฐานของการเกิดไว้ 2 เรื่อง เรื่องแรก ในกระเป๋าของผู้โดยสารนั้นมีน้ำหอมขวดเล็กอยู่รวมอยู่กับแบตเตอรี่สำรอง และสิ่งของอื่น แม้ว่าผู้โดยสารจะไม่ได้ทำการใช้แบตเตอรี่สำรองในขณะเกิดเหตุก็ตาม ตัวน้ำหอมที่เป็นของเหลวในกระเป๋า อาจจะไหลเข้าไปในแบตเตอรี่สำรอง แล้วเกิดปฏิกิริยาเคมีกับเป็นเบส เมื่อเจอกับก๊าซไฮโดรเจน ก็จะทำให้เกิดประกายไฟลุกไหม้ขึ้น

ส่วนอีกสาเหตุคือ การเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่สำรอง ทำให้เกิดการลุกไหม้ขึ้น ดังนั้น การใช้แบตเตอรี่สำรอง ควรตรวจสอบอยู่เสมอ ไม่ควรชาร์จทิ้งไว้นานเกินไป ไม่ควรใช้ชาร์จโทรศัพท์ในขณะที่กำลังใช้งานอยู่ เพราะเคยมีข่าวเรื่องโทรศัพท์ระเบิดขณะใช้แบตเตอรี่สำรองมาแล้ว รวมถึงไม่ควรนำแบตเตอรี่สำรองมาไว้ในช่องเดียวกับของเหลว หรือสัมภาระอื่นๆ ควรจะมีการแยกออกจากมาไว้ต่างหาก เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ และปัจจุบันก็มีแบตเตอรี่สำรองรุ่นใหม่จำนวนมาก ก็ควรเลือกใช้ของที่ได้มาตรฐานก็จะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น