วันอาทิตย์, 3 พฤศจิกายน 2567

(คลิป) แม่น้ำแห้งขอด จอมทองและฮอด วิกฤติหนัก แม่น้ำกลายเป็นทะเลทราย กรมชลฯ เร่งสร้าง 3 อ่างช่วยเหลือภัยแล้ง

Social Share

นึกว่าถนน แต่กลายแม่น้ำแห้งขอด จอมทองและฮอด วิกฤติหนัก แม่น้ำกลายเป็นทะเลทราย กรมชลฯ เร่งสร้าง 3 อ่างช่วยเหลือภัยแล้ง

13 ก.พ.63 ​: นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสภาพลำน้ำแม่ปิง ในพื้นที่อำเภอจอมทอง ฮอด และใกล้เคียง เพื่อดูแหล่งน้ำธรรชาติในพื้นที่หาแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะยาว โดยในพื้นที่ห้วยแม่ป่าไผ่ (ลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง) ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านและเกษตรกร 8 หมู่บ้าน ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ขณะนี้เกิดปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ตลอดส้นทางของลำน้ำยาวหลายกิโลเมตร ไม่มีน้ำไหลแม้แต่หยดเดียว พื้นที่ลำน้ำเหลือแค่ตะกอนทราย ส่วนลำน้ำสายอื่นๆในพื้นที่ก็น้ำแห้งเกือบทุกแหล่งน้ำประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมาก

​นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าจากยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี มีอยู่ 5 ประเด็น ในแต่ละประเด็นเกี่ยวข้องกับศาสตร์พระราชาหรือหลักของการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เช่น ประเด็นที่ 1 ในเรื่องของการพัฒนาแหล่งน้ำ ก็ใช้หลักในเรื่องของการทรงงานในเรื่องขององค์รวม เรื่องของภูมิสังคม ในเรื่องของภูมิศาสตร์ หรือภูมิปัญญา เพราะในการพัฒนาแหล่งน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำนั้นจะมีความแตกต่างกัน เราวางแบบสำเร็จรูปว่าจะสร้างเขื่อนอย่างเดียวทั้งหมดไม่ได้ ฉะนั้นหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความสำคัญยิ่งที่จะใช้เป็นแนวทางในการทำงานและการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานที่ถือว่าเป็นงานที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะโครงการพระราชดำริหลายโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อยังประโยชน์แก่ประสพนิกรของพระองค์ท่านในลุ่มน้ำต่างๆ

​โดยจังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีโครงการพระราชดำริมากถึง 500 โครงการ แล้วเสร็จประมาณ 400 โครงการเศษ ปัจจุบันมีโครงการที่ได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแล้วเสร็จอีก 3 แห่ง ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำแม่ปอน อำเภอจอมทอง 2.อ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อำเภอฮอด และ 3.อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่ อำเภอฮอด สามารถใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร และมีบางส่วนที่จะใช้รักษาระบบนิเวศน์ และจะยังประโยชน์กับบริเวณพื้นที่ที่อยู่ข้างเคียงได้ด้วย ถือเป็นประโยชน์กับประชาชนในอำเภอจอมทอง และอำเภอฮอดจังหวัดเชียงใหม่

นายเฉลิมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 3 โครงการ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางในลุ่มน้ำปิงที่ได้ทำการคัดเลือกแล้วว่า มีความเหมาะสมในด้านวิศวกรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งกรมชลประทานได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น แล้วเสร็จเมื่อ มิถุนายน2562 ต่อมากรมชลประทานได้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้า ดับเบิ้ลยู เอฟ โอ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท วิศวชาญ 2002 จำกัด, บริษัท ฟรอนเทียร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ส จำกัด และบริษัท องศา คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อดำเนินการงานสำรวจ ออกแบบ ตามสัญญาเลขที่ จ.57/2562 (สพด.) ลงวันที่ 20 กันยายน 2562 เริ่มปฏิบัติงานวันที่ 15 ตุลาคม 2562 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 8 กันยายน 2563 รวมระยะเวลาดำเนินงาน 330 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มปฏิบัติงาน โดยงบประมาณที่ใช้ไม่ต่ำกว่า 1,214,170,065‬ บาทจากการก่อสร้างทั้งหมด 3 โครงการ

สำหรับการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน 1. งานเขื่อนและอาคารประกอบ 2. งานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม ซึ่งงานเขื่อนและอาคารประกอบ จากผลการศึกษาเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำแม่ปอนพบว่า จะตั้งอยู่ที่หมู่ 15 บ้านแม่ปอน ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเขื่อนดินถมแกนดินเหนียวแบบแบ่งโซน เขื่อนสูง 31 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 2.03 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำแม่ฮอด ตั้งอยู่ในเขตหมู่ 2 บ้านแพะดินแดง ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเขื่อนดินถมแกนดินเหนียวแบบแบ่งโซน เขื่อนสูง 44.5 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 3.62 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่ ที่หมู่ 8 ตำบลฮอด อำเภอนาคอเรือ จังหวัดเชียงใหม่ ที่พบเห็นว่ามีน้ำแห้งขอดกลายเป็นตะกอนทราย และให้คนเดินข้ามได้เหมือนกับเป็นถนนเส้นทางใหม่นั้น แต่เดิมแล้วพื้นที่ของอ่างเก็บแห่งนี้ เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว และพื้นที่ก็อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มและป่าแม่ตื่น (โซน C) จำนวน 973 ไร่ แต่เนื่องจากสภาพความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและความแห้งแล้ง ทำให้พื้นที่แห่งนี้ขาดแคลนน้ำ ดังนั้น ทางกรมชลประทานฯ จึงวางแนวทางการปรับปรุงให้เขื่อนมีความสูง 50.50 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 12.24 ล้าน ลบ.ม. และจะได้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้

ทั้งนี้ เมื่อผ่านดำเนินการสำรวจ ออกแบบ สู่การก่อสร้างเป็นรูปธรรมแล้ว โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 3 โครงการ จะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำคัญทางการเกษตร สามารถส่งนำให้กับพื้นที่เพาะปลุกด้านท้ายอ่างเก็บน้ำได้ในทุกฤดูกาล เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของประชาชน สามารถพัฒนาเป็นแหล่งแพร่พันธ์และเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดได้ ทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยจากน้ำป่าไหลหลาก และที่สำคัญยังช่วยสร้างรายได้จากการเกษตรและอาชีพเสริม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โครงการและพื้นที่บริเวณใกล้เคียงต่อไป