วันอังคาร, 23 เมษายน 2567

กระทรวงวิทย์ฯ เติมความรู้ชวนเยาวชนค้นหาปริศนาไข่มหาสมบัติ ในมหกรรมวิทย์ฯ ภูมิภาค จ.สงขลา

Social Share

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำความรู้ใกล้ตัวอย่างเรื่องของไข่ในชุดนิทรรศการ Eggibition ไข่มหาสมบัติ ชวนน้อง ๆ เยาวชนภาคใต้ ค้นหาคำตอบ คลายความสงสัยเกี่ยวกับไข่ใน“มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคใต้ จังหวัดสงขลา” เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์

เมื่อวันที่ (15 มิถุนายน 2561) ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช) หน่วยงานหลักในการจัดงานมหกรรมวิทย์ฯ ภูมิภาค กล่าวว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติระดับภูมิภาค ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ครั้งนี้ ได้นำนิทรรศการ Eggibition :ไข่มหาสมบัติ มาจัดแสดงให้เด็ก ๆ และเยาวชนในภาคใต้ ได้หาคำตอบจากเรื่องใกล้ตัว ซึ่งใครๆ รู้จัก “ไข่” ในมุมเดียว แต่มีไม่กี่คนที่รู้จัก “ไข่” ในมิติอื่น ๆ ทั้งด้านชีววิทยา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะ “ไข่” ไม่ได้มีดีแค่เป็นแหล่งอาหารที่มีประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์เราหรือเป็นแค่ลูกกลมๆ รีๆ ที่ห่อหุ้มตัวอ่อนของสัตว์ปีกเท่านั้น

แต่ “ไข่” ยังมีคุณค่ามากกว่าที่หลายคนเข้าใจ และยังเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ซึ่งรวมถึงมนุษย์เราด้วย นอกจากนี้ “ไข่” ยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอันน่าทึ่งมากมายในโลกของเรา เช่น วิหารเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โคลอสเซียม อาคารสมัยโรมัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี รางส่งน้ำสมัยโรมันในเมืองเชโกเปีย ประเทศสเปน เป็นต้น

ความน่าสนใจอีกด้านของ “ไข่” เป็นสิ่งของล้ำค่าที่ประเมินค่ามิได้ในราชวงศ์ชั้นสูงฝั่งตะวันตก เช่น ไข่โรมานอฟ โดยภายในนิทรรศการมีความรู้และความสนุกสนานกับห้องทดลองเปลืองไข่หรรษาและกิจกรรมศิลปะแห่งไข่ ซึ่งเด็ก ๆ เยาวชนและผู้สนใจสามารถร่วมค้นหาคำตอบและเรียนรู้เรื่องราวของ “ไข่” มหาสมบัติอันมีค่าที่ธรรมชาติได้มอบไว้ให้ ซึ่งเชื่อว่าเด็ก ๆ เยาวชนและผู้สนใจที่มาร่วมงานในครั้งนี้จะได้รับประโยชน์มากมายจากความรู้เรื่องไข่ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

ด้านดร.อารมณ์ มุจรินทร์ นักวิชาการและรักษาการผู้อำนวยการกองนิทรรศการธรรมชาติวิทยาพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า ภายในนิทรรศการ Eggibition :ไข่มหาสมบัติ มีไฮไลท์ที่น่าสนใจคือได้นำไข่ดึกดำบรรพ์ ซึ่งเป็นฟอสซิลไข่ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยมาจัดแสดง ถูกค้นพบที่ภูพอก จังหวัดสกลนคร มีอายุราว 125 ล้านปี โดยไข่ชุดนี้มี 6 ฟอง ลักษณะเป็นไข่เปลือกแข็งคล้ายไข่กลุ่มจิ้งจกและตุ๊กแก เมื่อฉายด้วยเครื่องฉายรังสีกำลังขยายสูง ทำให้เห็นถึงโครงสร้างขนาดเล็กที่อยู่ภายใน

พบว่ามีกระดูกของตัวอ่อนสัตว์เลื้อยคลานที่ยังไม่ทราบชนิดนี้อยู่ภายใน มีลักษณะของกะโหลกยาวเรียวจนถึงปลายจมูกจัดอยู่ในสกุลแอนกีมอร์ฟ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับโมซาซอร์ ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานในทะเลที่สูญพันธุ์ไปแล้วและมีส่วนคล้ายมังกรโคโมโดในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้จัดแสดงเรื่องรูปทรงไข่ที่หลากหลาย ซึ่งมีผลต่อการอยู่รอดในรุ่นต่อๆ ไปของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ภายในนิทรรศการไข่ ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมาก ซึ่งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และต่อยอดไปสู่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ด้านอื่นๆ ต่อไป

งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคใต้จังหวัดสงขลา ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยนักเรียน เยาวชน และผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 19 มิถุนายนนี้ เวลา 09.00 – 19.00 น. ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ICC มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.nsm.or.th และ FACEBOOK : มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สอบถามที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โทรศัพท์ 02-577-9960