วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

(มีคลิป) 9 เดือน 9 สันทราย จัดแห่ขบวนผี “วันปล่อยผี ศรีดอนชัย” เดือนสิบสองเป็งล้านนา ให้เด็กไทยรู้จักประเพณีโบราณ

Social Share

ภาพบรรยากาศของขบวนแห่ที่มาจากชุมชนต่างๆ ในพื้นที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เทศบาลเมืองแม่โจ้ โรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองแม่โจ้ เทศบาลตำบลป่าไผ่ รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดขบวนผีไทย ทั้งผีกระสือ ผีม้าบ้อง ผีกะ ผีปกกะโหล้ง และผีไทยอื่นๆ เหมือนเป็นวันนรกแตก วันปล่อยผี ภายในงาน “วันปล่อยผี ศรีดอนชัย” ซึ่งมีคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

เมื่อเวลา 17.30 น.วันที่ 9 ก.ย. 65 ที่วัดศรีดอนชัยป่าตึงงาม (วัดแม่แก้ดน้อย) อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีขบวนแห่ผีไทย เริ่มทะยอยเดินทางเข้าสู่ภายในวัด เพื่อร่วมพิธีเปิดงาน นปล่อยผี ศรีดอนชัย” ส่งเสริมและสืบสานกิจกรรมทางวัฒนธรรมเดือนสิบสองเป็งล้านนา ในครั้งนี้ มีนายวิษณุ วิทยวราวัฒน์ ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ นายประหยัด ทรงคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ นายวิรัช จิโรจน์พงศา ปลัดเทศบาลเมืองแม่โจ้ พร้อมด้วย นายศิวะ ธมิกานนท์ นายอำเภอสันทราย, พระครูวิศาลจริยคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีดอนชัยป่าตึงงาม (วัดแม่แก้ดน้อย), ผู้อำนวยการโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองแม่โจ้ , อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้, นายกเทศมนตรีตำบลป่าไผ่ ผู้แทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมถึงคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าร่วมงานด้วย

บรรยากาศในงานได้สร้างสีสันให้กับงานค่ำคืนนี้เป็นอย่างมาก เหมือนวันนรกแตก เพราะมีภูติผีออกมาจำนวนมาก และเข้ากับบรรยากาศภายในวัด เนื่องจากภายในวัดแห่งนี้มีอุทยานนรกกับสวรรค์ ที่ได้สมมุติว่าอยู่สวรรค์เป็นอย่างไร และอยู่ในนรกต้องเจออะไรบ้าง

พระครูวิศาลจริยคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีดอนชัยป่าตึงงาม (วัดแม่แก้ดน้อย) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางวัดได้มีการจัดงานมาแล้ว 2 ปี แต่ได้หยุดไปในอีก 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และในปีนี้จึงได้กลับมาจัดงานอีกครั้ง โดยตามความเชื่อของชาวล้านนา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือคนล้านนาเรียกว่า “เดือนสิบสองเป็ง” อันนับเป็นเดือนสุดท้ายของการนับเดือนตามปฏิทินล้านนา ถือว่าเป็นวัน พญายมราช (ท่านยมทูต) เปิดประตูนรกหรือประตูผี เพื่อปล่อยผี ปล่อยเปรต ออกมารับเอาส่วนบุญส่วนกุศลที่ทางญาติมาทำบุญอุทิศไปให้ ซึ่งการทำบุญในวันเพ็ญเดือนสิบสองของชาวล้านนา เดือนสิบสองทางเหนือจะนับไวกว่าเดือนภาคกลางไปสองเดือน ดังนั้น เดือนสิบสองเป็ง จึงตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบ หรือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ในวันนี้ในหลายภูมิภาคมักมีประเพณีการทำบุญอุทิศหาผู้ตายหรือที่รู้จักกันดีในงาน สารทเดือนสิบ ประเพณีนี้แต่ละท้องถิ่นเรียกขานแตกต่างกันออกไป บางจังหวัดในภาคเหนือเรียกประเพณีอุทิศหาผู้ตายว่าประเพณีเดือนสิบสองบ้าง ประเพณีปล่อยผีปล่อยเปรตบ้าง ส่วนภาคกลางเรียกว่าตรุษสารท หรืองานบุญสารทเดือนสิบ ทางภาคอีสานเรียกประเพณีบุญข้าวสาก และภาคใต้เรียกว่าประเพณีชิงเปรต

ตามตำนานของเดือนสิบสองเป็ง เล่าว่า ครั้งเมื่อพุทธกาลยังมีพระมหาเถระรูปหนึ่งนามว่า “พระมหาโมค คัลลานะ” ได้เสด็จเดินทางไปยังนรกในเดือนสิบสองเป็ง เมื่อไปยังนรกแล้วเกิดปาฏิหารย์ ไฟนรกเกิดดับลง ยมบาลท่านทรงเล็งเห็นก็ทรงตรัสถามว่าต้องการอะไรหรือท่าน พระมหาโมคคัลลานะ จึงบอกว่าวันนี้เป็นวันไฟนรกดับสมควรให้เปรตสัมพเวสีผีนรกทั้งหลายได้ไปรับของกินของตานในวันนี้ ท่านยมบาลจึงสั่งให้สุวรรณปล่อยผีเปรตทั้งหลายไปหาญาติพี่น้องวงวารที่โลกมนุษย์ คนล้านนาจึงถือเอา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (สิบสองเป็ง) เป็นวันปล่อยผีกลับบ้าน ชาวบ้านทางภาคเหนือจะเตรียมอาหาร ไปทำบุญอุทิศให้กับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับที่ขึ้นมาจากนรก เพื่อมารับเอาส่วนบุญกุศลเหล่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านทางภาคเหนือที่ได้มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ในวันดังกล่าวนิยมทำบุญโดยการนิมนต์พระมาแสดงพระธรรมเทศนาแบบคัมภีร์ธรรมะ เช่น เรื่องมาลัยโผดโลก นิพพานสูตร มหามูลนิพพาน กรรมวิบาก อานิสงส์ทานหาผู้ตาย อภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ สารากริริชานสูตร เป็นต้น

ในสภาพสังคมยุคโลกาภิวัตน์ เด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ยังไม่ทราบว่ามีวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่นนี้อยู่ ซึ่งถือเป็นขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามที่แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว และปัจจุบันแทบจะถูกลืมเลือนไปจากสังคมของคนภาคเหนือ มีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่จำนวนหนึ่งที่ถือปฏิบัติและเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม เช่น การเตรียมข้าวปลาอาหาร จตุปัจจัย และอื่นๆ เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่งว่า หากไม่มีการสืบสานและส่งเสริมคุณค่าของวัฒนธรรม เดือนสิบสองเป็งที่มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล ในอนาคตการประกอบกิจกรรมทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมเช่นนี้อาจมีการสูญหายอย่างถาวร จึงได้จัดงานนี้ขึ้น เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญในการร่วมกันส่งเสริมและสืบสานกิจกรรมทางวัฒนธรรมเดือนสิบสองเป็งล้านนา

อีกทั้ง ให้ประชาชนได้ตระหนักและเห็นถึงคุณค่าของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าวิถีชีวิตของชุมชนและท้องถิ่น เกิดความภูมิใจในเอกลักษณ์ของความเป็นชาวล้านนาและให้เด็ก เยาวชน ประชาชาชน ได้เห็นคุณค่าตลอดจนช่วยกันสืบสานให้ดำรงอยู่สืบไป และวัดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ให้ความรู้ด้านความเชื่อทางศาสนาในการทำความดี ละเว้นความชั่ว โดยภายในวัดได้มีการสร้างอุทยาน นรก สวรรค์ เพื่อใช้เป็นเครื่องเตือนใจผู้คนให้หมั่นทำความดีและละเว้นความชั่ว ยึดมั่นในศีลธรรม ด้วยการจำลองอุทยานเมืองนรกและดินแดนสรวงสวรรค์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความตระหนัก และเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟู สืบสาน และส่งเสริมคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่น และให้เด็ก เยาวชน และประชาชน มีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมเดือนสิบสองเป็งล้านนาของท้องถิ่น