วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

(คลิป) ชาวเชียงใหม่ สลดประตูวัดหมื่นล้าน อายุ 104 ปี ช่างบูรณะวัดทาสีทับภาพวาดโบราณ

Social Share

ชาวเชียงใหม่ สลดประตูวัดหมื่นล้าน อายุ 104 ปี ช่างบูรณะวัดทาสีทับภาพวาดโบราณ ด้านกรมศิลป์ เตรียมเข้าตรวจสอบและเร่งแก้ไข

27 ก.ค. 63 : ประชาชนแห่แชร์เฟสบุ๊คของผู้ใช้ที่ชื่อว่า “คำโขก คำปรุง” โดยมีข้อความระบุพร้อมกับภาพวาดประตูวิหารวัดหมื่นล้าน ถนนราชดำเนิน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ว่า เมื่อวันก่อนเข้าไปเยี่ยมชมการบูรณะพระวิหารวัดหมื่นล้าน ประตูท่าแพชั้นในเมืองเชียงใหม่ บานประตูบานนี้เป็นบานประตูที่ทำด้วยเทคนิคการทำลายรดน้ำ(เป็นหนึ่งในไม่กี่บานที่มีขนาดใหญ่และเป็นบานของวิหารหลักของวัดในเชียงใหม่ที่ยังเหลือ) ตรงที่ประตูมีการจารึกเป็นตัวธรรมล้านนาว่า “พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ แล จุลศักราช ๑๒๗๙ เดือน ๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วัน ๔ ได้สลางหน้ามุกวิหารหลังนี้ นิพพานปจฺจโยโหตุโนนิจจํ” จากจารึกแล้วบานนี้ได้เขียนสร้างถวายพร้อมมุกหน้าพระวิหาร(ต่อเติมจากหลังเดิม)ในสมัยรัชกาลที่๖เป็นบานประตูที่มีอายุไล่เลี่ยกันมาตลอดกับวัดในเชียงใหม่หลายๆ ที่ แต่ในปัจจุบันเนื้องานโบราณได้รับการบูรณะโดยการทำพื้นงานใหม่ทับลงไปบนงานโบราณโดยได้รับข้อมูลมาว่าได้คัดลอกลายและจะเขียนขึ้นใหม่ในแบบฉบับเดิม บทเรียนครั้วงนี้เราทุกท่านขออย่ามองข้ามเพราะต่อไปอาจมีแบบนี้เกิดขึ้นอีกที่ไหนก็ได้ขอท่านทั้งหลายมองเป็นบทเรียน “การปล่อยให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นโดยไม่ทำอะไรเลยเท่ากับการสนับสนุนสิ่งนั้น” จะเสียดายก็แต่ว่างานโบราณนั้นไม่ได้ถูกการรักษาเนื้องานชั้นครูและเรื่องราวผ่านกาลเวลาเอาไว้ ประตูบานนี้คงอยู่ในมโนสำนึกสืบไป

 

จากการเดินทางไปที่วัด เพื่อสอบถามข้อมูลในเรื่องดังกล่าว โดยพบว่า วิหารของวัดที่ถูกพูดถึงนี้อยู่ในระหว่างการบูรณะซ่อมแซม และพบว่าอีกหลายจุดของอาคารที่ตั้งอยู่ภายในวัด ก็เริ่มที่จะทรุดโทรม โดยประตูวัดที่ถูกบูรณะ ได้มีการทาสีใหม่ เป็นสีดำเข้ม และไม่พบภาพวาดโบราณที่ประตูวัด และมีกระดาษทำเป็นป้ายเขียนวางไว้ที่ด้านหน้าประตูว่า “กรุณาอย่าจับ สีประตูยังไม่แห้ง” นอกเหนือจากประตูทางเข้าวิหารแล้ว ยังพบว่า มีการทำหลังคาใหม่ และบานหน้าต่างใหม่รอบพระวิหารที่ทาสีแดงทับของเดิมด้วย ขณะที่เดินดูรอบๆ วัด เพื่อจะสอบถามทางวัดแต่ไม่พบท่านเจ้าอาวาสแต่อย่างใด

ด้าน นายเทิดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนายการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า วัดหมื่นล้าน ที่เกิดเป็นกระแสดังกล่าว ตนได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นแล้ว และได้ติดต่อไปทางวัด โดยขอให้ทางวัดหยุดการบูรณะไว้ก่อน และได้ทราบว่า การบูรณะวัดแห่งนี้เนื่องจากความเสื่อมโทรม และหลายจุดของวัดเกิดการชำรุดตามกาลเวลา ซึ่งต้องเห็นใจทางวัดด้วย เพราะมีคณะศรัทธามาเห็นและได้บริจาคเงินให้วัดบูรณะ ทางวัดก็ปฏิเสธคณะศรัทธาเหล่านี้ไม่ได้เช่นกัน เมื่อรวมกับเรื่องที่วัดทรุดโทรม จึงต้องเร่งบูรณะขึ้น ก็มีการทำหลังคา กาารต่อเติม และการทาสีใหม่

 

สำหรับประตูของวัดที่ถูกพูดถึงนั้น ทราบจากทางวัดว่าไม่ได้ขูดของเดิมทิ้ง และได้มีการลอกลายเดิมทิ้งไว้ หลังจากบูรณะเสร็จก็จะทำการวาดลายเดิมให้เหมือนของใหม่ ส่วนการทาสีที่ประตู ก็เป็นการทาสีทับลงไปทั้งหมด 3 ชั้น โดยชั้นแรกทาสีขาว ชั้นที่สองเป็นชาตสีแดง และชั้นที่สาม ลงรักสีดำ เมื่อทราบว่าไม่ได้ทำการขูดของเดิมทิ้ง ก็มีโอกาสที่จะทำการรื้อสีใหม่ออกและให้กลับเป็นแบบเดิมได้ แต่ทั้งนี้ในวันพุธที่ 29 ก.ค. 63 เวลาประมาณ 09.30 น. ทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จะเดินทางเข้าไปตรวจสอบอีกครั้งว่า สีที่ทาทับไว้เป็นสีชนิดไหน เมื่อสอบถามว่า สามารถดึงภาพเดิมประตูเดิมกลับมาได้หรือไม่ ก็สามารถนำกลับมาได้แต่จะเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ต้องดูสีใหม่ที่ทาทับลงไปก่อน ทั้งนี้คงต้องปรึกษากับทางกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่การอนุรักษ์ของกรมศิลป์ ให้เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องนี้ เพราะต้องใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเหลือ

นายเทิดศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า วัดหมื่นล้าน ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางกรมศิลป์ แต่ก็ถือว่ามีความผิดตาม มาตรา 10 ใน พ.ร.บ.ของกรมศิลปากร แม้ว่าจะขึ้นทะเบียนหรือไม่ขึ้นทะเบียนก็ตาม แต่หากเป็นโบราณสถานที่เข้าข่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุ ศิลปกรรม รูปแบบสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ หรืออื่นๆ หากเข้าองค์ประกอบก็ถือว่าเป็นโบราณสถาน เมื่อจะทำการบูรณะซ่อมแซม จะต้องขออนุญาตและได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมศิลปากรเสียก่อน ซึ่งอัตราโทษของโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียนก็จะแตกต่างกันไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูเจตนาในการกระทำด้วย เพราะเบื้องต้นทราบว่า มีเจตนาดี แต่การจะทำผิดวิธี ผิดลำดับขั้นตอน

เมื่อสอบถามว่า สาเหตุที่วัดไม่ได้ขึ้นโบราณสถานเป็นเพราะทางกรมศิลป์ ไม่ได้เข้าตรวจสอบหรือไม่ หรือเกิดจากเงื่อนไขใด โดยนายเทิดศักดิ์ ชี้แจงว่า สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ดูแลพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด 8 จังหวัด และมีโบราณสถานมากมายที่ถูกขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งวัดหมื่นล้าน ไม่ใช่ถูกละเลย แต่การจะขึ้นทะเบียนโบราณสถาน มีเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากวัดแห่งนี้ มีเจ้าของ ดังนั้น การจะขึ้นทะเบียนได้ก็ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ก่อน ไม่ใช่ว่าทางกรมศิลป์จะประกาศให้ที่ใดเป็นโบราณสถานเลยนั้น ไม่สามารถทำได้ ลักษณะคล้ายกับบ้านโบราณสถาน “บอมเบย์ เบอร์มา” ที่ถูกรื้อไป ส่วนหนึ่งก็ต้องเป็นคนในพื้นที่แจ้งมาด้วย และอยู่ในเขตของกรมอุทยานฯ เป็นผู้รับผิดชอบ กระทั่งเกิดการรื้อถอน และเป็นกระแสข่าวโด่งดัง และต้องเร่งบูรณะขึ้นมาใหม่ ก็มีลักษณะที่คล้ายกัน ซึ่งทราบว่า ทางนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเดินทางไปตรวจดูในเร็วๆ นี้ ส่วนทางด้านสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ดำเนินการออกแบบไว้เกือบแล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว หลังจากที่มีการตรวจสอบและยื่นแบบให้กับทางสถาปัตยกรรม ส่วนกลางพิจารณา ก็สามารถที่จะประเมินราคา และเปิดประมูล จากนั้นก็ให้ทางกรมอุทยานฯ เป็นผู้ดำเนินการหาช่างเข้ามาดำเนินการ

อยากจะฝากไปถึงวัดต่างๆ ที่มีโบราณสถานและยังไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียน รวมถึงวัดที่ขึ้นทะเบียนแล้ว หากจะมีการซ่อมแซม ต่อเติมส่วนใดที่เป็นประวัติศาสตร์ เป็นโบราณสถาน ขอให้ปรึกษามาทางกรมศิลปากรก่อน เพื่อที่จะได้เข้าไปตรวจสอบ และแนะแนวทางการบูรณะซ่อมแซมที่ถูกต้องให้ เพราะในพื้นที่ภาคเหนือยังคงมีอีกมากที่ไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียน และบางแห่งบูรณะไปจนทำให้โบราณสถานเก่าแก่ดั้งเดิมที่เคยมีลดน้อยลง กลายเป็นของใหม่ หรือเหลือของเก่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งทางกรมศิลปากรไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

Cr. เฟสบุ๊ค คำโขก คำปรุง