วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

SUN เปิดไร่ตะวันหวาน (SUN VALLEY) หนุนเกษตรกรผสานนวัตกรรม พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรยั่งยืน

Social Share

SUN ชวนสัมผัสวิธีเกษตรกรรมยุคใหม่ เปิดไร่ตะวันหวาน (SUN VALLEY) ศูนย์การเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมผลักดันอำเภอแม่วางเป็นเมืองแห่งข้าวโพดหวาน ด้วยการบูรณาการการเกษตรในท้องถิ่นผสานเข้ากับเทคโนโลยี หวังสร้างประโยชน์ให้ชุมชนและเกษตรกรไทยเติบโตอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินโครงการไร่ตะวันหวาน (Sun Valley) บนพื้นที่กว่า 1,074 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรองรับการปลูกข้าวโพดหวานและพืชทางเกษตรอื่นๆ สร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ แก้ไขปัญหาความไม่แน่นอนของผลผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต และลดต้นทุนการเพาะปลูก สนับสนุนธุรกิจหลักของบริษัท และพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการเกษตร (Agri X) เสริมสร้างอาชีพให้เกษตรกร และการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรในระดับประเทศ โดยให้ความรู้เกษตรกรและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการสร้าง Land Mark และแหล่งท่องเที่ยวในด้านการเกษตรขั้นสูง ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพ ที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและเกษตรกร สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนในอนาคต

ไร่ตะวันหวาน (Sun Valley) เป็นโครงการที่บริษัทได้บูรณาการนวัตกรรม เทคโนโลยี รวมถึงองค์ความรู้ด้านการเกษตรต่าง ๆ ซึ่งมุ่งเน้นความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ Smart Farming รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยในวันที่ 9 กันยายน 2565 บริษัทได้จัดกิจกรรมเปิดไร่ตะวันหวาน (Open house) ขึ้น เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ด้านการเกษตรครบวงจร โดยให้ข้อมูลตั้งแต่กระบวนการปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว และการสาธิตการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพาะปลูกอย่างแม่นยำ เช่น Drone เพื่อการเกษตร, เทคโนโลยี loT Sensor และ Application ทางการเกษตรต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตเพิ่มคุณภาพ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีพิธีบวงสรวงพระพิรุณ การประกวดข้าวโพดหวาน และมีบูธจัดแสดงความรู้ด้านการเกษตร จากองค์กรพันธมิตร ได้แก่ บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด บริษัท ซินเจนทา ซีดส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด บริษัท ไฮโดรไทย จำกัด บริษัท เจียไต๋ จำกัด บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท สกาย วีไอวี จำกัด เป็นต้น ทั้งนี้มีเกษตรกร และหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมงานมากกว่า 300 ราย

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงทุ่มเทความพยายามในการหาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้แก่เกษตรกร เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น