วันอังคาร, 23 เมษายน 2567

ชาวบ้านแม่สะเรียง รำลึก 8 ปี มรณกาล “พระครูอนุสรณ์ปัญญาคุณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง พระผู้อนุรักษ์ขนมธรรมเนียมวัฒนธรรมท้องถิ่นประเพณีปอยส่างลอง

Social Share

รำลึก 8 ปี มรณกาล “พระครูอนุสรณ์ปัญญาคุณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง พระครุอนุสรณ์ปัญญาคุณ เป็นพระผู้อนุรักษ์ขนมธรรมเนียมวัฒนธรรมท้องถิ่นประเพณีปอยส่างลองให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และอุปการะจัดหาที่เรียนให้กับสามเณรด้อยโอกาสจำนวนมาก

วันที่ 30 มกราคม 2565 ที่วัดศรีบุญเรือง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พระอธิการอัษดิน วิสุทธิจิตโต เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง ได้นำสามเณร ศรัทธาประชาชนชาวอำเภอแม่สะเรียง ร่วมพิธีทำบุญ เนื่องในงาน รำลึก 8 ปี มรณกาล พระครูอนุสรณ์ปัญญาคุณ และงานวันกตัญญูบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน อดีตเจ้าอาวาสทั้ง 3 รูปวัดศรีบุญเรือง ซึ่งประกอบไปด้วย พระครูอนุสรณ์สาศนาเกียรติ (ครูบาเส่งปาน) พระครูอนุสรณ์ปัญญาทร (พระครูคำหน้อย) และพระครูอนุสรณ์ ปัญญาคุณ (ครูบาเขมรินทร์)

 

สำหรับ “พระครูอนุสรณ์ ปัญญาคุณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง ได้มรณภาพเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 เวลา 10.32 น.สิริอายุ 62 ปี 32 พรรษา พระครูอนุสรณ์ปัญญาคุณพระผู้มีเมตตากับเด็กชาวเขาด้อยโอกาส พระผู้อนุรักษ์ขนบวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย พระนักพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของเด็กชาวเขาด้อยโอกาส โดยผ่านการบวชปอยส่างลอง หรือการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน พร้อมได้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมธีรราชมหามุนี เมื่อปี 2554 เปิดการเรียนการสอนทั้งแผนกธรรม และบาลี แผนกสามัญตั้งแต่ชั้น ม.1-ม.6 มีสามเณรศึกษาอยู่เริ่มแรก 120 รูป จาก 5 ชนเผ่า ประกอบด้วย กะเหรี่ยง ละว้า ไทยใหญ่ พื้นเมือง และม้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสามเณรด้อยโอกาส เนื่องจากเป็นเด็กกำพร้า เด็กต่างด้าว หรือเด็กตกหล่น รวมทั้งพ่อแม่นำมาบวช ในช่วงภาคฤดูร้อนไว้ที่วัด นอกเหนือจากการเรียน ด้านธรรมบาลี และสามัญแล้ว สามเณรเหล่านี้ ยังได้รับการฝึกสอนด้านวิชาชีพ ตามโครงการส่งเสริมการศึกษา สร้างอาชีพสามเณรชาวเขา ตามพระราชดำริใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ที่ต้องการให้สามเณรทุกรูปมีวิชาชีพติดตัว เนื่องจากแต่ละคนมีศักยภาพ ในการเรียนรู้สติปัญญาไม่เท่ากัน สำหรับวิชาชีพที่ทำการฝึกสอนให้กับสามเณรที่นี้ ประกอบด้วย การถักเชือกทำสร้อยคอ กำไรข้อมือ การทำกรอบรูปวิทยาศาสตร์ การเย็บผ้า การตัดผม เป็นต้น ชิ้นงานของสามเณรทุกรูป ทางวัดจะจัดจำหน่วยให้แก่ญาติโยมที่เดินทางมาเที่ยววัด นำเงินรายได้เป็นทุนการศึกษาสามเณรต่อไป