วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

มทร.ล้านนา (ดอยสะเก็ด) จัดกิจกรรมนาปันสุข เกี่ยวข้าวเพื่อแผ่นดิน ส่งต่อความสุขเพื่อสังคม จากวันแม่ สู่วันพ่อ

Social Share

มทร.ล้านนา จัดกิจกรรมนาปันสุข เกี่ยวข้าวเพื่อแผ่นดิน ส่งต่อความสุขเพื่อสังคม จากวันแม่ สู่วันพ่อ สืบสานศาสตร์ สร้างสัมพันธ์ “บ้าน วัด โรงเรียน (มหาวิทยาลัย)”

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2565 ที่ศูนย์เรียนรู้ มทร.ล้านนา (ดอยสะเก็ด) อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ วงษ์พานิช รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานเปิดกิจกรรม นาปันสุข เกี่ยวข้าวเพื่อแผ่นดิน สืบสานศาสตร์ สร้างสัมพันธ์ “บ้าน วัด โรงเรียน (มหาวิทยาลัย)” ส่งต่อความสุขเพื่อสังคม จากวันแม่ สู่วันพ่อเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา(ดอยสะเก็ด) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรจักร เมืองใจ ผู้ช่วยอธิการบดี หัวหน้าแผนงานใต้ร่มพระบารมี รวมถึงเจ้าหน้าที่ของ มทร.ล้านนา เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้

โดยการดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการสร้างคุณค่าแห่งการขับเคลื่อนงานใต้ร่มพระบารมี เพื่อสานต่อพระราชปณิธานงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่การสืบสาน รักษา ต่อยอด ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ผ่านกิจกรรมแห่งการเทิดไท้ เฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 90 พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมให้ทุกภาคส่วน ได้สืบสานเห็นคุณค่าของการปลูกข้าวไทย ด้วยการเรียนรู้ผ่านองค์ความรู้ด้านวิชาการ ภายใต้ปรัชญาแห่งศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงที่เท่าทันและยั่งยืน รวมถึงรักษาสมดุลแห่งเอกลักษณ์ท้องถิ่น ด้วยการใช้พันธุ์ข้าวที่ดี ผ่านกรรมชีววิถีแห่งการทำนาด้วยการปฏิบัติจริง ให้ได้ซึ่งผลผลิตแห่งคุณค่า และส่งมอบให้แก่เด็กยากจน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ เกษตรกร ชาวบ้าน และหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคม ประเทศชาติในทุกมิติต่อไป

โคก หนอง นา ล้านนาโมเดล ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ดอยสะเก็ด) มุ่งเน้นการถ่ายทอดวิถีการผสมผสานของเกษตรทฤษฏีใหม่ร่วมกับภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ สามารถปลูกพืชต่าง ๆ ไว้ในพื้นที่และสามารถใช้สอยได้ครอบคลุมทุกปัจจัย โดยการนำศาสตร์พระราชา ถ่ายทอดสู่เยาวชน ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องข้าวแก่ชุมชน เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาและลงมือทำจริงได้เกิดความเข้าใจสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ โดยได้จำแนกพื้นที่การเรียนรู้ออกเป็น 3 พื้นที่ แบ่งเป็นพื้นที่โคก ได้แก่ พื้นที่เรียนรู้การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ในการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว เรียนรู้สรรพคุณพันธุ์พืชสมุนไพร และต้นไผ่พื้นที่หนอง ได้แก่ พื้นที่เรียนรู้การจัดการน้ำโดยหลักธรรมชาติ คูคลองไส้ไก่กระจายความชุ่มชื้นในพื้นที่ หนองกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในพื้นที่และเลี้ยงปลาพื้นที่นา ได้แก่ พื้นที่เรียนรู้กระบวนการปลูกข้าวอินทรีย์ โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน