วันอังคาร, 23 เมษายน 2567

ราชมงคลล้านนา ผสาน บ้าน วัด โรงเรียน น้อมใจจัดกิจกรรม สืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกข้าวเพื่อแผ่นดิน” เทิดไท้พระพันปีหลวง

Social Share

ราชมงคลล้านนา ผสาน บ้าน วัด โรงเรียน น้อมใจจัดกิจกรรม สืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกข้าวเพื่อแผ่นดิน” เทิดไท้พระพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา นำศาสตร์พระราชา โคก หนอง นา โมเดล ถ่ายทอดสู่เยาวชน ส่งเสริมเปิดศูนย์การเรียนรู้ข้าวแก่ชุมชน

“ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก”

ความตอนหนึ่งพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการโคกภูแล จ.นราธิวาส ในปีพุทธศักราช 2536 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 และพระราชดำรัส “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่าป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม 2525 ณ บ้านถ้ำคิ้ว อำเภอล่องดาว จังหวัดสกลนคร

ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่มีต่อปวงพสกนิกรชาวไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จึงได้จัดกิจกรรม ราชมงคลล้านนาน้อมสืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกข้าวเพื่อแผ่นดิน” ภายใต้โครงการ 90 พระชนมพรรษา สายน้ำล้านนา เทิดไท้พระพันปีหลวง สืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่การ สืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 น้อมนำเอาศาสตร์พระราชา โคก หนอง นา โมเดล ถ่ายทอดวิถีการเรียนรู้การปลูกข้าวสู่เยาวชนและประชาชนทั่วไปเพื่อให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีและวิธีการปลูกข้าวในรูปแบบต่างๆ การแปรรูปผลผลิต สู่คนทุกช่วงวัย ร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพระราชทาน รักษาสมดุล เอกลักษณ์ข้าวท้องถิ่น ภูมิปัญญา ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วน

โดยพิธีเปิดกิจกรรมในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ได้รับเกียรติจาก พลตรี ประสิษฐิพงศ์ มูลดี ผู้แทนแม่ทัพ ภาค 3เป็นประธานเปิด ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกิจกรรมนี้ยังจัดขึ้นทั้ง 6 พื้นที่จัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตลอดเดือนสิงหาคม 2565

กิจกรรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน องค์กรท้องถิ่นและ ภาคประชาชน อาทิ กรมการข้าว เครือข่ายชาวนาและประชาชนในพื้นที่ อำเภอและองค์การบริหารส่วนตำบลนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ผสานความร่วมมือขององค์กรรอบข้างโดยยึดหลัก“บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ที่จะร่วมได้สืบสานวิถี ภูมิปัญญาและเห็นคุณค่าของการปลูกข้าวไทย ด้วยการเรียนรู้ผ่านองค์ความรู้วิชาการปรัชญาแห่งศาสตร์พระราชา


โดยการปลูกข้าวจะใช้พันธุ์ข้าวที่มหาวิทยาลัยได้ร่วมพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความเหมาะสมกับชาวล้านนา ได้แก่ ข้าวเหนียวธัญสิริน ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามข้าว “ธัญสิริน” เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ และเมล็ดข้าวหอมล้านนา ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความต้านทานโรคและแมลง เป็นข้าวที่มีคุณภาพ รวมถึงการใช้พันธุ์ข้าวแห่งความเป็นมงคล (พันธุ์ข้าวพระราชทาน) ผ่านกรรมชีววิถีการแห่งการทำนาด้วยการปฏิบัติจริง เพื่อให้ได้ซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพและสามารถ ต่อยอดสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่า

ภายในงานพบกับกิจกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าว การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว การสาธิตและ ให้ความรู้วิธีการทำนาอย่างถูกวิธี อาทิ การปลูกข้าวนาโยน การจัดแสดงผลงานโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) และกิจกรรมการเรียนรู้อีกมากมาย