วันอังคาร, 23 เมษายน 2567

กรมชลประทาน เร่งสำรวจความคืบหน้าสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จอมทอง แก้ภัยแล้งช่วย 3 อำเภอ เชียงใหม่-ลำพูน

Social Share

กรมชลประทาน สนองพระปฐมบรมราชโองการ ร.10 “สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา” สั่งการจัดทำแผนปรับปรุงอ่างเก็บน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อสานต่อพระราชปณิธาน ร.9 ให้เกิดประโยชน์สุขแก่ปวงไพร่ฟ้าประชาราษฎร์

16 มิถุนายน 2563 : ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน มอบหมายให้ นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

 

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กล่าวว่า เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชหฤทัยอันมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรของพระองค์ กรมชลประทานน้อมนำพระราชปณิธานมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานปรับปรุงโครงการ ดังนี้

ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ราษฎรมีที่ดินทำกินและมีแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร และอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี มีงานทำในท้องถิ่นของตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมทั้งฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสภาพแวดล้อมในพื้นที่โครงการให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีแหล่งเก็บกักน้ำที่ก่อสร้างมานานถึง 37 ปี ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำ 22 แห่ง บ่อบาดาล 42 บ่อ สระเก็บน้ำ 24 แห่ง ประตูระบายน้ำ 4 แห่ง และสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำปิงอีก 8 แห่ง สามารถสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมได้ 2 จังหวัด 3 อำเภอ 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.บ้านโฮ่ง ต.หนองปลาสวาย อ.บ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ต.บ้านแปะ ต.แม่สอย อ.จอมทอง และ ต.บ้านตาล อ.ฮอด จังหวัดเชียงใหม่ สภาพโดยรวมในปัจจุบันอ่างเก็บน้ำชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก บางแห่งมีปัญหาการรั่วซึมจึงไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ บางแห่งตัวอ่างมีลักษณะตั้งฉากกับแนวฝนในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถเก็บน้ำได้เต็มความจุ รวมถึงหัวงานบางแห่งไม่มีอาคารประกอบ และระบบส่งน้ำเดิมที่ใช้อยู่

เกิดการชำรุดและใช้งานได้ไม่ดี ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความจุอ่างที่มีอยู่ ส่งผลให้ในพื้นที่ทั้ง 4 ตำบล ประสบปัญหาภัยแล้งเกือบทุกปี การปรับปรุงโครงการครั้งนี้ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทาง เช่น

  • การเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำเป็นอ่างเก็บน้ำพวงหรืออ่างพวง เนื่องจากพื้นที่รับน้ำของแต่ละอ่างเก็บน้ำจะไม่เท่ากัน และพื้นที่ที่สร้างอ่างเก็บน้ำได้ก็อาจไม่เหมาะสมกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา อ่างเก็บน้ำบางแห่งจึงมีปริมาณน้ำมากเกินจนล้น และอ่างเก็บน้ำบางแห่งก็มีปริมาณน้ำน้อยจนไม่เพียงพอกับความต้องการ
    เมื่อเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำก็สามารถระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมากไปสู่อ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย ทำให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุด
  • การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำโดยการขุดลอก เสริมความสูงของอาคารระบายน้ำล้น โดยไม่มีการรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้ และใช้งบประมาณน้อย
  • การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการเดินเครื่องสูบน้ำ เป็นการใช้พลังงานทดแทนที่มีตามธรรมชาติให้เกิดประโยชน์รักษา : ดูแลรักษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เกิดความยั่งยืน

กรมชลประทานเห็นถึงปัญหาของโครงการ จึงมอบหมายให้ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โพธิศิรินทร์ ไทยคอนซัลแต๊นท์ จำกัด และ บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด ทำการศึกษาหาแนวทางปรับปรุงเพื่อให้สามารถใช้งานได้ดังเดิม โดยการจัดทำแผนแม่บทการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำในภาพรวมทั้งหมด และจะคัดเลือกโครงการมาทำการศึกษาความเหมาะสมจำนวน 1 โครงการ เพื่อนำไปดำเนินการให้เกิดผลโดยเร็ว โดยการศึกษาครั้งนี้จะจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียทุกขั้นตอน จำนวน 4 ครั้ง เพื่อให้ได้แผนการปรับปรุงที่เหมาะสมทั้งด้านวิชาการและเป็นที่ยอมรับของประชาชน โดยกรมชลประทานและที่ปรึกษาได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง” ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กล่าว

ผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ คือรูปแบบในการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำทั้ง 22 แห่ง รวมถึงระบบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น แก้ไขการรั่วซึมของอ่างฯ ปรับปรุงอาคารประกอบที่ชำรุดทรุดโทรม การเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างฯ โดยการเพิ่มระดับเก็บกักน้ำและปรับปรุงทางระบายน้ำล้น การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำเดิม การปรับปรุงสถานีสูบน้ำ การปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำ เป็นต้น โดยประชาชนผู้มีส่วนได้เสียที่เข้าร่วมการประชุมเห็นด้วยกับแนวทางการปรับปรุงโครงการ และพร้อมที่จะจัดตั้งกลุ่มเพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผลจากการปรับปรุงโครงการดังกล่าว จะทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีกราว 10 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมปริมาณน้ำกักเก็บได้ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร การทำเกษตรของพี่น้องประชาชนนั้นส่วนใหญ่เป็นลำไย ก็ไม่ได้ใช้น้ำมากเหมือนนาข้าว ซึ่งน้ำที่มีอยู่ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้ หากจบในเดือน ก.ย. 63 นี้ ก็สามารถตั้งของบประมาณในปี 64 เพิ่มเติม หรือปี 65 ต่อไป การก่อสร้างอ่างที่สอง ก็น่าจะเป็นปี 65 โดยแต่ละอ่างน่าจะใช้เวลา 1 – 2 ปี ในการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างในพื้นที่นี้ในปี 68 ก็ยังสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เสร็จ แต่น่าจะอยู่ในแผนการพัฒนา 5 ปี ซึ่งเริ่มปี 65 น่าจะครบในปี 69

ในขณะที่เขื่อนแม่ปุ๊ตอนบนใหม่ ในปัจจุบันหากการนำน้ำประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม.เศษ ไม่ได้นำไปทำการเกษตร สามารถนำมาให้ประชาชนได้ใช้กว่า 80,000 คน เรียกว่าได้ทั้งอำเภอ แต่ทั้งนี้คงจะบอกไม่ได้ว่าจะใช้เพื่อการอุปโภค บริโภคอย่างเดียว เพราะในพื้นที่มีการเกษตรด้วย โดยอ่างเก็บน้ำนี้จะทำการเชื่อมโยงไปถึง 3 อ่างด้านล่าง เรียกว่าอ่างพวง ในแต่ละปีปริมาณน้ำไม่เท่ากัน หากน้ำมากแทนที่จะปล่อยน้ำที่เหลือทิ้งไป ก็นำไปลงในอ่างใกล้เคียงเพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์ แต่บางปีน้ำน้อยก็วางมาตรการให้เกษตรกรเพาะปลูกในฤดูฝน ส่วนฤดูแล้งอาจจะใช้ได้เฉพาะน้ำอุปโภค บริโภค แต่เป็นเฉพาะบางปี ซึ่งความมั่นคงของการใช้น้ำประปาในหมู่บ้านที่อยู่ท้ายน้ำก็จะไม่ขาดแคลน

ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้เหมาะสมที่สุดแล้ว ในการทำรายงานความเหมาะสม หลังจากผ่านขั้นตอนการรายงาน ก็จะเข้าสู่ขบวนการขออนุญาต ซึ่งพื้นที่นี้เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างป่าโซน C และเขตห้ามล่า ซึ่งการขอใช้พื้นที่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร อาจจะนานเป็นปี การขอตั้งงบประมาณเร็วสุดน่าจะได้ประมาณปี 65 หรือปี 66 เป็นต้นไป ซึ่งการก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ก็จะแล้วเสร็จ

เมื่อโครงการก่อสร้างทั้งหมดเสร็จ จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้ประมาณ 19,000 ไร่ สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการปีละ 217 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตรงนี้จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่อย่างเช่นที่ประสบอยู่ในปีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กล่าวในที่สุด