วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

แห่งแรกในภาคเหนือ ประสบความสำเร็จ แพทย์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รักษาโรค “พาร์กินสัน” สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

Social Share

แห่งแรกในภาคเหนือ ประสบความสำเร็จ แพทย์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รักษาโรค “พาร์กินสัน” ด้วยการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก เป็นแห่งแรกในภาคเหนือ ซึ่งผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

อ.นพ.ชญาศักดิ์ วันทนียวงค์ อาจารย์ประจำหน่วยวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และหัวหน้าคลินิกโรคพาร์กินสัน คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า…“โรคพาร์กินสัน หรือ Parkinson’s disease โดยเฉลี่ยจำนวนประชากรทั่วประเทศไทยมีความชุกของโรคนี้ ร้อยละ 0.24 หรือประมาณ 770,000 ราย อาการผู้ป่วยของโรคนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่หนึ่ง เป็นอาการที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว โดยผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน จะมีอาการสั่น ซึ่งมักเป็นบริเวณที่มือ แขน และขา เคลื่อนไหวช้า อาการเกร็ง บริเวณแขน ขา การทรงตัวไม่ดี เดินลำบาก และกลุ่มที่สอง เป็นอาการที่ไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว เช่น ท้องผูก จมูกไม่ได้กลิ่น นอนละเมอ ซึมเศร้า ระบบความจำ รวมถึงการนึกคิดแย่ลง”

โรคพาร์กินสัน ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ มักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี สำหรับผู้สูงวัยเป็นโรคนี้เมื่ออายุมากขึ้น สมองจะมีการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติ โดยที่สมองของผู้เป็นโรคฯ ไม่สามารถกำจัดโปรตีนเหล่านี้ออกไปได้ เมื่อโปรตีนมีการเกาะบริเวณสมอง ทำให้เซลล์สมองเสื่อมและตาย ส่งผลให้เกิดอาการของโรคพาร์กินสันตามมา ซึ่งการเกิดโรคนี้อาจจะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยแวดล้อมภายนอก และปัจจัยทางพันธุกรรม

การดำเนินของโรค แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะต้น ร่างกายตอบสนองต่อยาได้ดี , ระยะกลาง เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ยาออกฤทธิ์ได้สั้นลง จำเป็นต้องทานยาบ่อยขึ้นจากเดิม มีการเคลื่อนไหวมากผิดปกติ ยุกยิกขยับไปมา และระยะท้าย ผู้ป่วยล้มบ่อย เดินเองไม่ได้ สมองเสื่อม เห็นภาพหลอนบ่อย

ในปัจจุบันโรคพาร์กินสันรักษาได้ แต่ยังไม่หายขาด ซึ่งมีแนวทางการรักษาหลายรูปแบบ หากพบว่าผู้ป่วยรายใดมีอาการเสี่ยง แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย ยิ่งได้รับการรักษาเร็ว จะดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วย

รศ.นพ.ชุมพล เจตจำนงค์ อาจารย์ประจำหน่วยประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาด หรือหยุดยั้งการดำเนินของโรคได้ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีแรกเป็นการรักษาด้วยยา โดยยากลุ่มหลักคือ ยาลีโวโดปา (levodopa) ช่วยเพิ่มสารโดปามีนในสมอง สำหรับวิธีที่สองคือการรักษาโดยการไม่ใช้ยา ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยใช้เครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก เป็นหนึ่งในการรักษาหลักในกลุ่มนี้ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจะมีอาการค่อนข้างมาก เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาที่ได้รับยาแล้วแต่ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ารับการผ่าตัดเพื่อควบคุมอาการให้ดีขึ้น ซึ่งการทำงานของชุดอุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึกทั้งหมดนี้ จะถูกฝังอยู่ในร่างกายผู้ป่วย เครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกจะส่งกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ เข้าไปในสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว เพื่อลดอาการของโรคพาร์กินสันทั้งสองด้านของร่างกาย เช่น อาการสั่น เกร็ง และอาการเคลื่อนไหวช้า ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ใกล้เคียงกับคนปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยอายุการใช้งานของแบตเตอรี่นี้จะมีอายุประมาณ 3-5 ปี เมื่อแบตเตอรี่หมดแล้วจะสามารถทำการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้กับผู้ป่วยได้ โดยปัจจุบันได้ทำการรักษา ให้กับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทั้งหมดมากกว่า 10 ราย และมีผลการรักษาเป็นที่น่าพึงพอใจถึง 90 เปอร์เซ็นต์”