วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

ไฟป่ารุนแรง นายอำเภอปาย สั่งเข้ม ให้กำนัน ผญบ.ทุกตำบล ส่งตัวแทนชุดเหยี่ยวไฟร่วมดับไฟป่าบนยอดดอยอย่างต่อเนื่อง

Social Share

นายอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน สั่งเข้มให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกตำบล บูรณาการกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาไฟป่า ล่าสุดแต่ละหมู่บ้านส่งตัวแทนร่วมกับชุดเหยี่ยวไฟและหน่วยดับไฟป่า บุกขึ้นไปควบคุมไฟป่าบนยอดเขาอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 สถานการณ์ไฟป่าปาย จ.แม่ฮ่องสอน ที่รุนแรงมากขึ้น ในท้องที่ ต.เมืองแปง , ต.แม่ฮี้ และ ต.ทุ่งยาว โดยเฉพาะที่ ต.เมืองแปง พบมีการเกิดไฟป่ามากที่สุด ล่าสุด นายเอนก ปันทะยม นายอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้ใช้ยุทธวิธีแก้ไขปัญหาไฟป่า ด้วยการให้ราษฎรในหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน ที่มีความชำนาญเส้นทางในป่าในพื้นที่ของแต่ละหมู่บ้าน นำชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า (เหยี่ยวไฟ) จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครราชสีมา เดินทางขึ้นไปดับไฟป่าที่เกิดขึ้นบนเทือกเขา โดยเน้นดับไฟป่าและหากดับไม่ได้เนื่องจากเป็นหน้าผาและเทือกเขาสูงชัน ให้ทำการทำแนวกันไฟ เพื่อไม่ไฟป่าลุกลามขยายตัวเป็นวงกว้าง

นอกจากนั้น ยังได้มีการประสานงานไปยังหน่วยดับเพลิงองค์กรปกครองถิ่น ได้แก่ หน่วยดับเพลิงองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงใต้ หน่วยดับเพลิงองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฮี้ หน่วยดับเพลิงองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งยาว และหน่วยดับเพลิงองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแปง เข้าพื้นที่เพื่อควบคุมเพลิงกรณีไฟป่าเข้าใกล้บ้านเรือนของราษฎร เพื่อป้องกันการเกิดเพลิงไหม้บ้านเรือน

นายนิกร แก้วโมรา หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย เปิดถึงแผนการดับไฟป่า ของ ขสป.ลุ่มน้ำปาย ว่า ทางศูนย์อำนวยการอำเภอปาย และศูนย์ฯ ขสป.ลุ่มน้ำปาย โดยการอำนวยการของ ผอ.สบอ.16 มร. และนายอำเภอปาย สั่งการบูรณาการกำลังเสริม โดยใช้ชุมชนที่รู้สภาพพื้นที่จัดชุดบูรณาการ พร้อมเสบียง 3 วัน 2 คืน ขึ้นสนับสนุนดับไฟป่าในจุดเกิดไฟ จนกว่าไฟจะดับ และเตรียมเสบียงเพื่อชุดต่อไปกรณียังดับไม่ได้ ปัญหาอุปสรรค เนื่องจากเป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน มีระยะทางไกล ต้องเดินเท้าเพียงอย่างเดียวและไม่มีคลื่นโทรศัพท์ โดยได้หาประชาชนผู้ชำนาญพื้นที่ เป็นผู้นำขึ้นไปดับไฟป่าและมีการ เตรียมเสบียงขึ้นไปปฏิบัติงานในพื้นที่ตลอด 24 ชม.

สรุปจุดความร้อนช่วงเช้า ประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS จังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดจุดความร้อนขึ้น 42 จุด สรุปจุดความร้อนช่วงบ่าย ประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS จังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดจุดความร้อนขึ้น 20 จุด รวม 62 จุด ถือว่าจุดไฟป่าได้ลดลง จากยอดจุดไฟป่าของวันที่ 19 ก.พ.2567 จุดไฟป่ารวมทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย รวม 106 จุด

ทางด้านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เฝ้าติดตามสถานการณ์ไฟป่าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งจากการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ด้วยแบบจำลองระบบสารสนเทศ ระหว่างวันที่ 19 – 25 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่า มี 10 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟป่า คาดว่าสูงกว่า 1 ล้านไร่ ได้แก่พื้นที่จังหวัดตาก ลำปาง เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร โดยส่วนใหญ่จะเกิดในเขตพื้นที่เกษตร พื้นที่เขต สปก. พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ สาเหตุอาจเกิดจากการจุดไฟเผาเพื่อหาของป่า หรือการเผาก่อนเตรียมการเพาะปลูก หรือการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปวางแผนเพื่อการจัดการเชื้อไฟ และจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Cr. ฉลอง หมั่นสกุล

เรื่องมาใหม่