วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

(คลิป) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ มช. ประสบความสำเร็จรอบ 150 ปี ผลิตกระจกเกรียบและจืนโบราณได้

Social Share

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดแถลงข่าวประสบความสำเร็จในรอบ 150 ปี “การรื้อฟื้นการผลิตกระจกเกรียบและจืนแบบโบราณ เพื่องานบูรณะและอนุรักษ์” ได้สำเร็จ เตรียมต่อยอดใช้บูรณโบราณสถาน โบราณวัตถุทั่วประเทศ พร้อมต่อยอดออกสู่เชิงพาณิชย์ในอนาคต

วันที่ 9 ธ.ค. 63 เวลา 13.00 น. ที่วัดช่างฆ้อง ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.กมลพรรณ เพ็งพัด นักวิจัย ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นายรชต ชาญเชี่ยว ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2563 ได้ร่วมกันแถลงข่าว ความสำเร็จในรอบ 150 ปี “การรื้อฟื้นการผลิตกระจกเกรียบและจืนแบบโบราณ เพื่องานบูรณะและอนุรักษ์”

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมควบคู่กับวิทยาการด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ใหม่จากประสบการณ์และภูมิปัญญาของคนไทย ซึ่งเป็นฐานรากที่มั่นคงในการเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ รวมถึงทดแทนการนำเข้าหรือพึ่งพาองค์ความรู้จากต่างประเทศ และเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมที่อยากเห็นกระทรวงฯ “เป็นกระทรวงแห่งพหุวิทยาการและสหวิทยาการ ตั้งใจทำนุบำรุงศิลปะวิทยาการทุกด้าน หนุนงานสังคม มนุษยศาสตร์ ควบคู่กับการพัฒนางานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี”

โดยในปี 2559 วช. ได้สนับสนุนการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาแก้วคริสตัลปราศจากตะกั่วและการประดิษฐ์แก้วคริสตัลบาง” ภายใต้แผนงานเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมด้านวัสดุนาโนและนาโนเทคโนโลยี นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กมลพรรณ เพ็งพัด นักวิจัย สังกัดคณะวิทยาศาสาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ และปัจจุบันได้พัฒนางานที่เน้น “การประดิษฐ์แก้วคริสตัลบางเพื่อประยุกต์เป็นกระจกโบราณ” ร่วมกับโรงงานการผลิตกระจกโบราณของ นายรชต ชาญเชี่ยว และคณะ เพื่อพัฒนาสูตรกระจกโบราณใหม่ ๆ เป็นกระจกจืนและกระจกเกรียบ ซึ่งมีสีและสมบัติที่คล้ายคลึงกับกระจกเกรียบโบราณเป็นอย่างมาก จนสามารถนำกระจกจืนและกระจกเกรียบไปบูรณะโบราณสถานและโบราณวัตถุได้หลายแห่ง ถือว่าประสบความสำเร็จในรอบ 150 ปี ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ก็สามารถผลิตได้อีกครั้ง ขณะเดียวกันก็เป็นกระจกที่ทางกรมศิลปากรให้การยอมรับในการนำไปใช้บูรณะซ่อมแซมโบราณสถาน โบราณวัตถุในสมัยโบราณ และวัตถุโบราณที่ถือเป็นสมบัติของชาติด้วย

อีกทั้งยังสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบประดับกระจกจืนและกระจกเกรียบที่สามารถนำไปใช้งานในการบูรณะโบราณสถานและโบราณวัตถุ และสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ใช้กระจกจืนและกระจกเกรียบตกแต่งเพื่อขยายผลเชิงพาณิชย์ในอนาคตได้อีกด้วย จึงนับได้ว่าผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการ ที่สามารถต่อยอดทั้งเชิงพาณิชย์และสามารถนำไปทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย และ วช. จะสนับสนุนโครงการวิจัยในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษามรดกอันทรงคุณค่าให้คงอยู่เคียงคู่คนไทยสืบไป