วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

แม่สะเรียงสภาพอากาศวิกฤตต่อเนื่อง 14 วัน ระดมรถน้ำฉีดพ่นสร้างความชุ่มชื่นลดค่าฝุ่นละอองในอากาศ

Social Share

แม่สะเรียงสภาพอากาศวิกฤตต่อเนื่อง 14 วัน ระดมรถน้ำฉีดพ่นสร้างความชุ่มชื่นลดค่าฝุ่นละอองในอากาศ

วันที่ 11 มีนาคม 2566 นายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอแม่สะเรียง พร้อมด้วย นายเรืองฤทธิ์ ผลดี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน , ว่าที่ร้อยตรี พูนศักดิ์ ดีมั่น นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลแม่สะเรียง , นายแพทย์บัณฑิต ดวงดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สะเรียง , นายเกรียงศักดิ์ ทายี่ ท้องถิ่นอำเภอแม่สะเรียง , นางคำเพ็ญ นนทพัทธ์สกุล รองปลัดเทศบาลตำบลเมืองยวมใต้/รักษาราชการแทนปลัด ร่วมกิจกรรม (Kick off) บูรณาการฉีดพ่นละอองน้ำ ลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศและสร้างความชุ่มชื้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน

ขณะที่คุณภาพฝุ่นละอองขนาดเล็กยังคงพุ่งสูงเกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยทาง อำเภอแม่สะเรียง ประสานร่วมความร่วมมือกับทาง อปท.ในพื้นที่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง ศูนย์ควบคุมไฟป่าแม่สะเรียง และ ปภ.แม่ฮ่องสอน สนับสนุนรถพ่นละอองน้ำ เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการปฏิบัติการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชน จากหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ณ บริเวณ หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์แม่สะเรียง

โดย นายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอแม่สะเรียง กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพอากาศในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง เข้าขั้นวิกฤตที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดย อำเภอแม่สะเรียงมีจุดความร้อนสะสมสุงสุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวม จำนวน 571 จุด และมีปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่า 104ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ เกินกว่า 14 วัน ดังนั้น เพื่อเป็นการลดปัญหาของฝุ่นละออง จึงได้มีการบูรณาการเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง ได้ดำเนินการฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ ลดฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่นานกว่า 1 ชม. พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการฉีดพ่นละอองน้ำในแต่ละจุดติดต่อกันเป็นเวลา 1 อาทิตย์ เพื่อให้สภาพอากาศดีลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

ทั้งนี้ จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน จุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 มีนาคม 2566 จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจุดความร้อนสะสม ทั้งหมด 2,313 จุด คิดเป็นร้อยละ 44.36 ของจุดความร้อนสะสมปี 2565 หรือ คิดเป็นร้อยละ 24.66 ของค่าเป้าหมายปี 2566 ซึ่งทางจังหวัดตั้งเป้าหมายปี 2566 ไม่เกิน 9,378 จุดโดยอำเภอที่มีจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ อำเภอแม่สะเรียง จำนวน 571 จุด รองลงมาคือ อำภอปาย 456 จุด อำเภอเมือง 391 จุด อำเภอปางมะผ้า 356 จุด อำเภอแม่ลาน้อย 203 จุด อำเภอขุนยวม 183 จุด อำเภอสบเมย 156 จุด ตามลำดับ