วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

วัดศรีบุญเรือง สืบสานประเพณีปอยส่างลองเฉลิมพระเกียรติ พร้อมรับสามเณรบวชเรียนภาคฤดูร้อน 60 รูป

Social Share

วัดศรีบุญเรือง สืบสานประเพณีปอยส่างลองเฉลิมพระเกียรติ พร้อมรับสามเณรบวชเรียนภาคฤดูร้อน 60 รูป

วันที่ 30 มีนาคม 2566 วัดศรีบุญเรือง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย พระอธิการอัษดิน วิสุทฺธิจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดโครงการบรรพชาสามเณรและอุปสมบทพระภิกษุ ปอยส่างลอง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิตติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 1 เมษายน 2566 เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดีมีปัญญาและมีความสุขฟื้นฟูอนุรักษ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีชีวิตให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอแม่สะเรียง เป็นประธานในพิธีปลงผม โดยปีนี้มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการ 60 รูป โดยวันที่ 29 มีนาคมจะเป็น พิธีปลงผมนาค วันที่ 30 มีนาคม 2566 วันแห่ส่างลอง วันที่ 31 มีนาคม 2566 วันแห่ครัวหลู่ และ วันที่ 1 เมษายน 2566 วันข่ามส่าง (บรรพชา-อุปสมบท)

ทางวัดศรีบุญเรือง เปิดโอกาสให้เด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและอยู่ในพื้นที่สูงได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น โดยมีพระอธิการอัษดิน วิสุทธิจิตโต ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนและเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง เป็นผู้สานต่อโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน (ปอยส่างลอง) ซึ่งเน้นกิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี มีปัญญาและมีความสุข ปลูกฝังเยาวชนเข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรและเข้ารับการอบรมปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิต ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอันดีงาม

ทั้งนี้ งานประเพณีปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้ว เป็นประเพณีบรรพชาพระหรือสามเณรตามความเชื่อของชาวไทใหญ่ โดยผู้เข้าร่วมประเพณีจะแต่งกายคล้ายพระราชาเลียนแบบพุทธประวัติ เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช โดยจะมีการปฏิบัติกับผู้เข้าร่วมประเพณีปอยส่างลองคล้ายกับพระราชา ซึ่งจะไม่ให้เท้าแตะพื้น และจะต้องขี่คอพี่เลี้ยงกับมีคนกางร่มให้ตลอดงานประเพณี ซึ่งชาวไทใหญ่มีความเชื่อว่า การบวชส่างลองจะได้อานิสงส์มาก ดังนั้น ชาวไทใหญ่จึงนิยมให้บุตรหลาน บรรพชาในประเพณีปอยส่างลอง