น่าชื่นชม โรงเรียนล่องแพวิทยา ชูแนวคิด “หยุดโรคไม่หยุดเรียน” แม้รถจะไปไม่ได้ก็เดินเท้าเพื่อไปสอนได้

Social Share

“ลุยโคลนลุยน้ำ เส้นทางไม่ใช้อุปสรรค” หยุดโรค เราไม่หยุดเรียน โรงเรียนล่องแพวิทยา ชูแนวคิด On-Heart และ On-Feet เน้นเสริมพลัง “ครู” เอาชนะข้อจำกัดการเรียนรู้ ภายใต้สถานการณ์โรคระบาด

“หยุดโรคไม่หยุดเรียนรู้” on-hand เมื่อรถไปไม่ได้ก็เดินเท้ากันต่อไป ระยะทางไม่ใช่อุปสรรค เพื่อเด็กน้อยได้เรียนรู้ คอนเซ็ปต์ ของโรงเรียนล่องแพวิทยา ภาพการเดินทางของบรรดาเหล่าคุณครูนักสู้ โรงเรียนล่องแพวิทยา
ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่เดินทางออกแจกใบงานแบบ 𝚘𝚗 𝚑𝚊𝚗𝚍 ถูกเผยแพร่ผ่านเฟสบุ๊คของโรงเรียนล่องแพวิทยา ซึ่งทำให้เห็นถึงความยากลำบากของการเดินทางที่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อจิตวิญญาณความเป็นครู เพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้ไม่ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะเป็นอย่างไรเด็กต้องได้เรียนรู้ เช่นเดียวกับ ภาพในคลิปวีดีโอ ซึ่งเป็นถ่ายทอดการเดินทางของคณะครูโรงเรียนล่องแพ ทั้งชายและหญิง กว่า 15 คน ที่ออกเดินทางส่งใบงานให้กับเด็กๆนักเรียนตามหมู่บ้านต่างๆ เส้นทางที่เห็นเป็นเส้นทางมุ่งสู่ บ้านโอโลคีล่าง-บ้านโอโลคีบน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งถ้าในห้วงเวลาปกติก็จะเดินทางกันเฉลี่ยประมาณ 3 -4 ชั่วโมง สำหรับฤดูฝนแล้วจากโรงเรียนไปถึงหมู่บ้านทั้งสอง คุณครูต้องอาศัยความชำนาญในการขับขี่รถขึ้นโดยสูง ผ่านลำน้ำ จุดไหนขึ้นไม่ได้ก็ต้องพากันทั้งเดินทั้งดันรถที่คิดโคลนใช้เวลามากถึง 5-6 ชั่วโมง ถึงหมู่บ้านเพื่อส่งใบงานให้กับเด็กนักเรียน เพื่อให้เด็กๆ  นักเรียนโรงเรียนล่องแพวิทยา 679 คน อาศัยอยู่กระจายตามหมู่บ้านได้รับใบงานครบถ้วนทุกคน

โดยคุณครูจะแบ่งสายกันออกเดินทางแจกจ่ายใบงานไปทุกหมู่บ้านที่มีนักเรียนอาศัยอยู่ ในพื้นที่ 18 หมู่บ้าน เขตรอยต่อ 3 อำเภอ 3 จังหวัด ประกอบไปด้วย โอโลคีบน โอโลคีล่าง ,บ้านคอทะ,บ้านเมโลเด ,บ้านทีเลอเปอร์คี, บ้านมอโกรทะ,บ้านคะแนจือคี,บ้านผาแดง,บ้านห้วยน้ำผึ้ง, บ้านจือทะ ฝั่งอ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ บ้านอิวีโจ, บ้านทีสะนอ ,บ้านวะหย่าโจ ,บ้านแม่ละยอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และ บ้านสงโขง, บ้านแม่แฮด, บ้านแม่หาด, บ้านอุมโล๊ะ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

ด้าน นายสยาม เรืองสุกใส ผู้อำนวยการโรงเรียนล่องแพวิทยา ได้เผยแพร่ข้อมูลการแนวทางและแผนการเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในโรงเรียนชายขอบ อย่างโรงเรียนล่องแพวิทยา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ไว้ว่า ในช่วงที่ความท้าทายใหม่กำลังฉุดกระชากต่อสู้กับโรคระบาดครั้งใหญ่สุดอีกครั้งในประวัติศาสตร์โลก วิธีการและแนวคิดมากมายถูกนำเสนอและสร้างทางเลือกให้กับผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษามากมายหลายลักษณะเพื่อเอาชนะข้อจำกัดของการเรียนการสอนและสามารถให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง แม้ หน่วยงานการศึกษาที่เป็นกองบัญชาการใหญ่ของประเทศได้นำเสนอแนวคิดและวิธีการหลาย ON ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้แบบ on-site , on-air , online, on-demand และ on-hand ซึ่งเป็นวิธีการบริหารจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนให้ได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ฐานะครัวเรือนและความพร้อมของตัวเด็กเอง แต่องค์ประกอบหลักและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ไม่ว่าจะในรูปแบบ on ไหนๆก็ตามนั่นคือ “ครู” “ครู” ซึ่งเป็นด่านหน้าที่จะกำหนดชัยชนะของสมรภูมิการเรียนรู้ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดในครั้งนี้

ดังนั้นการเลือกใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ on ต่างๆ จึงจำเป็นต้องขึ้นอยู่สถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาประกอบกับการตัดสินใจในหน้างานของแต่ละโรงเรียนตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอนเพื่อเอาชนะกับความสำเร็จของการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ได้ตามที่คาดหวังหรือไม่นั้น “on-feet” และ “on – heart” หรือ การจัดการเรียนรู้ด้วยการเดินเท้าเข้าสู่พื้นที่และการขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยหัวใจก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโรงเรียนชายขอบเช่นพวกเราเสมอ และได้กล่าวทิ้งท้าย ขอบคุณพลังเข้มแข็งของร่างกาย พลังความเข้มแข็งของหัวใจ ของพี่น้องเพื่อนครูทุกคนที่ร่วมกันขับเคลื่อนการเรียนรู้ของเด็กในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง