แม่ฮ่องสอน ขับเคลื่อนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กระเทียม กำหนดแนวทางขับเคลื่อน และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กระเทียมทั้งจังหวัด ครอบคลุมการบริหารจัดการ การผลิต การแปรรูป และการตลาด ให้มีประสิทธิภาพสูง
วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 เวลา 09.00 น. ที่ ห้องประชุมสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายเอกวิทย์ มีเพียร ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน มอบหมายให้ นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กระเทียมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งระบบ ครั้งที่ 2/2568 เพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อน และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กระเทียมทั้งจังหวัด ครอบคลุมการบริหารจัดการ การผลิต การแปรรูป และการตลาด ให้มีประสิทธิภาพสูง ตลอดห่วงโซ่คุณค่าความสัมพันธ์กลไกตลาดกระเทียม โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมทั้งในรูปแบบออนไซต์และรูปแบบออนไลน์
โดยที่ประชุมได้ติดตามการรายงานสถานการณ์การผลิตกระเทียม ปีการผลิต 2567/2568 โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รายงานสถานการณ์การผลิตกระเทียม ปี 2567/2568 ซึ่งมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกกระเทียม จำนวน 3,477 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 14,305.15 ไร่ ผลผลิตรวม 44,310.8 ตันสด คิดเป็นกระเทียมแห้งประมาณ 14,770.27 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 3,097.57 กิโลกรัม/ไร่ เริ่มเพาะปลูกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 – มกราคม 2568 ออกสู่ตลาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2568 โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้นแล้ว
การติดตามสถานการณ์การตลาดกระเทียม ปีการผลิต 2567/2568 โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รายงานสถานการณ์การตลาดกระเทียมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเกษตรกรได้มีการเก็บเกี่ยวกระเทียมสดตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน 2568 ซึ่งปัจจุบันผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว 100 % โดยราคากระเทียมสดคละที่เกษตรกรจำหน่ายได้ ราคากิโลกรัมละ 12 – 18 บาท (ราคาเฉลี่ย 15 บาท/กก.) ส่วนราคากระเทียมแห้งคละ ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ราคากิโลกรัมละ 30 – 72 บาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา กิโลกรัมละ 3 – 5 บาท (กิโลกรัมละ 33 – 35 บาท) ส่วนสถานการณ์ราคากระเทียม ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนกระเทียมแห้งคละ กิโลกรัมละ 32 – 35 บาท
จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาแนวทางการหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม โดยในเบื้องต้นสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เสนอแนวทางการกระจายกระเทียมจากผู้ผลิตไปสู่ตลาดปลายทางโดยตรง จำนวน 5 แนวทาง ดังนี้
- การเชื่อมโยงการจำหน่ายผลผลิตกระเทียมมัดปึ๋งจากผู้รวบรวมหรือเกษตรกรของจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปสู่ผู้ค้ารายใหญ่ในต่างจังหวัดผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความพร้อม
- การเชื่อมโยงการจำหน่ายกระเทียมมัดแต่งแล้ว จากผู้รวบรวมหรือเกษตรกรของจังแม่ฮ่องสอนไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง ในต่างจังหวัดผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความพร้อม
- การเชื่อมโยงการจำหน่ายกระเทียมแกะกลีบเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมโดยตรง โดยสำนักงานพาณิชย์ได้ประสานกับผู้รับจ้างจัดงานแสดงสินค้าในงานแม่ฮ่องสอนม๋วนใจ ซึ่งจัดในระหว่างวันที่ 2 – 6 กรกฎาคม 2568 โดยให้จัดหา Buyer เข้ามาเจรจารับซื้อกระเทียมจากเกษตรกรหรือผู้รวบรวมที่มีความพร้อมของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
- สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาสถานที่ให้กับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะนำกระเทียมไปจำหน่ายปลีกให้กับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งในเบื้องต้น ศูนย์การค้า เจ.เจ.มอลล์ ยินดีให้สถานที่ในการจำหน่ายสินค้า หากผู้ประกอบการมีความประสงค์จะไปจำหน่ายในสถานที่ใด สำนักงานฯ จะดำเนินการประสานให้ต่อไป
- เห็นควรมีหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าภายใน ขอให้ประสานกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้กระเทียมเป็นวัตถุดิบ เพิ่มปริมาณการใช้กระเทียมไทยเป็นวัตถุดิบหลักในการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มปริมาณความต้องการใช้กระเทียมไทย อันจะส่งผลให้เกิดการรับซื้อกระเทียมเพิ่มมากขึ้น
Cr. ฉลอง หมั่นสกุล จ.แม่ฮ่องสอน
เรื่องมาใหม่
- แม่ฮ่องสอน ชุมชนยลวิถีบ้านต่อแพ ถ่ายทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น แก่เด็ก เยาวชน สืบสานสิ่งดีงามและวิถีชีวิต ต่อยอดสร้างรายได้
- ลุยกันต่อ รอไม่ไหว 3 เส้นทาง 7 จุด อบต.แม่สามแลบ จับมือ ชาวบ้านเดินหน้าช่วยกันซ่อมแซม สู่เส้นทางความปลอดภัย
- อช.สาละวิน จับกุมผู้ต้องหาล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ พร้อมตรวจยึดอาวุธปืน ซากรอก สัตว์ป่าคุ้มครอง 6 ซาก ดำเนินคดี
- ทต.เมืองยวมใต้ ร่วมกับ สะพานบุญครูหนึ่ง มอบเตียงไฟฟ้า และ เครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ป่วยติดเตียง
- ป้องกันไว้ก่อน อบต.แม่สามแลบ ชาวบ้านขนดินหินปิดร่องลึกเพื่อการสัญจรที่ปลอดภัย เตือนไม่จำเป็นขอให้เลี่ยงเดินทาง