วันอาทิตย์, 28 เมษายน 2567

ทีมแม่ฮ่องสอนท่องเที่ยวพลัส หารือผู้นำชุมชนและชาวบ้านหนองเขียว เชื่อมโยงเส้นทางเมือง – ขุนยวม ชูแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมชุมชนปกาเกอะญอ

Social Share

ทีมแม่ฮ่องสอนท่องเที่ยวพลัส บูรณาการลงพื้นที่หารือผู้นำชุมชนและชาวบ้านหนองเขียว เตรียมชูแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมชุมชนปกาเกอะญอน่าเที่ยว ท่ามกลางธรรมชาติ เชื่อมโยงเส้นทางเมือง – ขุนยวม

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าที่ ร.ต.ภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผู้อำนวยการสำนักงานแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วย นายกรวิทย์ ช่วยดู ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ นายภานุเดช ไชยสกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน และนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน บูรณาการลงพื้นที่ชุมชนบ้านหนองเขียวหมู่ที่ 10 ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบปะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน ตามนโยบายการพัฒนาจังหวัด ภายใต้การอำนวยการของ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน

โดยมีผู้เข้าร่วมการพบปะหารือประกอบด้วย

  1. ว่าที่ ร.ต. ภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน
  2. นายกรวิทย์ ช่วยดู ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน
  3. นายภานุเดช ไชยสกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน และนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน
  4. นางสาวอนันญพร ทำของดี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญ
  5. นางสาวทิพญ์สุคนธ์ แก้วปัญญา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน (เกษตรที่สูง)
  6. นายพัลลภ ปัญญา หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบ – หนองเขียว สถาบันวินัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
  7. นางสาววาสนา นวลพลับ นักวิเคราะห์นโยบาลและแผนชำนาญการ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  8. นางสาวกัลยา จิรัฐิติวิชาไชย กลุ่มเตรียมสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลงหนองเขียว
  9. นายธนันชัย มุ่งจิต วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน (ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน)
  10. นางสาวเขมรัศมิ์ อมรพัชราลักษณ์ พนักงานการตลาด 4 ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน
  11. นายส่าปี ชลธารเสาวรส กรรมการกลุ่มเตรียมสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง หนองเขียว
  12. นายบุญมา วนาศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหนองเขียว (พ่อหลวงบุญมา)
  13. นายพะโก่ลือ แก้วนิลประคอง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองเขียว

การพบปะหารือดังกล่าวได้มีการจัดเก็บข้อมูลเบื้องต้นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ กิจกรรมการท่องเที่ยว เทศกาลงานประเพณีที่สำคัญ โดยพบว่าชุมชนบ้านหนองเขียวมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวสูงมาก และสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างอำเภอเมืองกับอำเภอขุนยวมตามเส้นทางคมนาคมสายรอง (ทางหลวงชนบท มส 4009) ซึ่งจะผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอาทิ บ้านหนองเขียว – บ้านพอนอคี – ร้านกาแฟเยาวชนโพซาโฮ – อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ – โอมสเตย์ จุดชมวิวและนกเงือกบ้านหัวแม่สุรินทร์ – ทุ่งดอกบัวตองดอยแม่อูคอ ฯลฯ แต่ยังไม่ดำเนินการประชาสัมพันธ์และเสนอขายในเชิงการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวชุมชนบ้านหนองเขียวหมู่ 10 ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความน่าสนใจด้วยการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวปกาเกอะญอ บนความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,100 – 1,200 เมตร มีบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน ชื่อว่า “หนองเขียว” (ภาษาปกาเกอะญอ เรียกว่า “โหน่พะโด่”) ซึ่งเรียกชื่อตามภูมิประเทศที่ที่พบว่าหนองน้ำสะท้อนเป็นสีเขียวจากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่อยู่รายรอบ ชุมชนแห่งนี้มีวิถีชีวิตเรียบง่าย อยู่อาศัยแบบพึ่งพาธรรมชาติ มีการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า มีวิถีชีวิตการทอผ้า ตีมีด แกะสลักไม้ และดำรงชีพแบบพอเพียง อาชีพหลักคือทำการเกษตรตามภูมิประเทศในพื้นที่

สิ่งดึงดูดใจ แหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากชุมชนแห่งนี้ ได้รับการส่งเสริมอาชีพจากหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย จึงมีความน่าสนใจในด้านวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพแบบเกษตรกรรม มีการส่งเสริมด้านการเลี้ยงสัตว์ อาทิ ไก่ดำ ไก่แม่ฮ่องสอน การเพราะเลี้ยงกล้วยไม้ป่า การทำเกษตรอินทรีย์ปลูกผักปลอดสารพิษ ผักสลัด การปลูกไม้ผล อาทิ เสาวรส กาแฟ รวมถึงมีกิจกรรมในเชิงการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เช่น การสาธิตการทอผ้า การตีมีด การชมกล้วยไม้ป่า การขี่จักรยนานชมหนองเขียว การตกปลา การชมดาวในยามค่ำคืน การกางเต็นท์พักแคม แคมปิ้ง

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ได้มีกิจกรรมการนำกล้วยไม้คืนสู่ป่า โดยศูนย์ขยายผลโครงการตามพระราชดำริ บ้านหนองเขียว ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีการคืนกล้วยไม้ อาทิ เอื้องกุหลาบน่าน 391 ต้น เอื้องสายหลวง 100 ต้น, เอื้องสายคำปอน 100 ต้น, เอื้องสายน้ำผึ้ง 100 ต้น, เอื้องหลวงจันทรบูร 100 ต้น, เอื้องสายไหม 100 ต้น, เอื้องแววมยุรา 100 ต้น, ฟ้ามุ่ย 100 ต้น รวมกล้วยไม้ จำนวน 8 ชนิด 1,091 ต้น ซึ่งในอนาคตจะเป็นแหล่งชมกล้วยไม้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

การเดินทางเข้าถึง จากอำเภอเมืองใช้ทางหลวง 108 (เมือง-ขุนยวม) ประมาณ 39 กิโลเมตร ถึงบ้านแม่จ๋า พบทางแยกด้านซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงชนบท มส 4009 เป็นทางคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2 เลนสวนทาง ไม่มีไหล่ทาง สภาพเส้นทางคดเคี้ยวตามภูมิประเทศ และขึ้นลงเขาลาดชัน โค้งแคบเป็นบางช่วง รถยนต์กระบะ เก๋ง รถตู้สัญจรได้ โดยตามทางไปประมาณ 37 กิโลเมตร จะถึงบ้านหนองเขียว จุดสังเกตจะพบบึงน้ำขนาดใหญ่อยู่ทางขวามือติดกับถนน เมื่อขับผ่านบ้านหนองเขียวไปตามทางจะผ่าน – บ้านพอนอคี (ปกาเกอะญอ) น้ำตกพอนอคี – ร้านกาแฟเยาวชนโพซาโฮ – อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ – โอมสเตย์จุดชมวิวและนกเงือกบ้านหัวแม่สุรินทร์ – ทุ่งดอกบัวตองดอยแม่อูคอ น้ำตกแม่ยวมหลวง และออกสู่ทางหลวงหมายเลข 1263 ที่จะเลือกเลี้ยวขวาไปสู่อำเภอขุนยวม หรือเลี้ยวซ้ายไปอำเภอแม่แจ่มได้

สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบไฟฟ้าเข้าถึง มีที่พักแบบโฮมสเตย์ – โฮมลอดจ์ 3 แห่ง ได้แก่ ยาแอะนา โฮมสเตย์ มีห้องพักที่จำลองบ้านชาวปกาเกอะญอ 2 หลัง 3 ห้อง ๆ ละประมาณ 400 บาท โทร. 08 5622 2728, 09 2723 4622 จุดกางเต๊นท์ ริมทะเลสายหนองเขียว โทร. 08 9854 3587, 06 3685 4403 พินนะดำ โฮมสเตย์ มีห้องพัก 3 ห้อง ๆ ละประมาณ 600 บาท โทร. 09 7976 1531 มีจักรยาน บริการนักท่องเที่ยว 10 คัน บริการร้านอาหารในชุมชน ก๋วยเตี๋ยว ข้าวซอย กาฟ

ทีมท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนพลัส จะร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมชุมชนให้มีการบริหารจัดการและมีรายได้จากการท่องเที่ยว โดยได้กำหนดจัดกิจกรรมการประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจและร่วมกำหนดแนวทางการบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนอีกครั้งในวันที่ เสาร์-อาทิตย์ที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อระดมความคิดเห็นกับชุมชนในด้านการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบครบถ้วนทุกมิติ โดยจะเชิญหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อมูลและกำหนดแนวทางร่วมกันกับชุมชน โดยวางเป้าหมายการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ

Cr. ฉลอง หมั่นสกุล