วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

(คลิป) เชียงใหม่ KICK OFF สร้างการรับรู้ก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำสื่อ 9 ภาษาประชาสัมพันธ์ครอบคลุมทุกกลุ่ม เน้นให้วางตัวเป็นกลาง

Social Share

31 ส.ค. 63 : ที่ศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผอ.กกต.จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายอำเภอ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเข้าประชุมกิจกรรมกิจกรรม KICK OFF การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทั่วไป

นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผอ.กกต.จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การเตรียมการเลือกตั้งทาง กกต.จังหวัดได้เตรียมการมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ในปีนี้ก็มีสัญญาณด้านการเลือกตั้งภายในปี 63 จึงมีความจำเป็นที่ต้องสื่อสารให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนกาารต่างๆ และออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่ถูกครอบงำ ทราบกระบวนการ วิธีการ ขั้นตอนการเลือกตั้ง ซึ่งการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต้องคำนึงถึงความแตกต่างของประชาชนในแต่ละบริบทของพื้นที่ การนำเสนอเนื้อหา การใช้ภาษาที่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกร่วม ตระหนักรู้ เพื่อให้การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลจึงได้จัดทำคลิปวีดีโอความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น จำนวน 10 เรื่อง สปอตวิทยุ จำนวน 4 เรื่อง ละครสั้นวิทยุภาษาเหนือ (กำเมือง) และชนเผ่า 9 ภาษา ได้แก่ ภาษาชนเผ่าอาข่า, ลีซู, เมี่ยน, ม้ง, ลาหู่, กะเหรี่ยง (โป), กะเหรี่ยง (สะกอ), ภาษาเหนือ (กำเมือง) และภาษายอง พร้อมมีอินโฟกราฟิกเป็นแอนิเมชั่น 2D จำนวน 4 เรื่อง พร้อมแผ่นพับประชาสัมพันธ์

เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกไปใช้สิทธิอย่างมีคุณภาพ เพิ่มจำนวนร้อยละผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งและลดจำนวนบัตรเสียในการเลือกตั้งท้องถิ่น สร้างภาคีเครือข่ายการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ภาครัฐรระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและหน่วยงานของรัฐระดับอำเภอท้องถิ่น การประชาสัมพันธ์เป็นอย่างถูกต้องครบถ้วน

ผู้ที่จะลงสมัครเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็น อบจ., เทศบาล และ อบต. นอกจากจะศึกษาเรื่อง พรบ.การเลือกตั้งแล้ว ยังต้องศึกษา พรบ.ของ อบจ., เทศบาล และ อบต. ที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ขณะที่ประชาชนก็ต้องติดตามข่าวสารจาก กกต.จังหวัด ติดตามจากสื่อมวลชน รวมถึงเสียงตามสายในหมู่บ้าน/ชุมชน และประกาศการเลือกตั้งในพื้นที่ว่า จะมีการเลือกตั้ง อบจ., เทศบาล และ อบต. ในวันไหน และจะเลือกตั้งอะไรก่อน แล้ววิธีการลงคะแนนเสียงแบบไหน ก็ควรศึกษาด้วย เพื่อลดอัตราบัตรเสียให้น้อยลง

สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทาง ที่ผ่านมาได้มีการจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ที่จังหวัดลำปาง และครั้งที่สอง ที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งก็ผ่านพ้นไปด้วยดี เป็นไปตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด ซึ่งในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ก็จะมีการขยายจุดให้ลงคะแนนเพื่อลดความแออัด จัดกำลังเจ้าหน้าที่ อสม. มาช่วยในการตรวจวัดอุณหภูมิ ประชาชนที่เข้ามาต้องใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สวมใส่หน้ากากอนามัยด้วย