วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งยกระดับอุตสาหกรรมภาคเหนือ โชว์ศักยภาพการบริการแบบครบวงจร ขานรับเศรษฐกิจยุค 4.0

Social Share


ผอ.วัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation Center: ITC) ส่วนกลาง (กล้วยน้ำไท) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 มีการกระจายไปยังศูนย์ส่วนภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 11 ภาค และรวมถึงศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกฯ ที่ จ.ลำปาง รวม เป็น 12 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมีการนิคมอุตสาหกรรมอีก 10 แห่ง ซึ่งในปัจจุบัน ศูนย์ ITC มีการกระจายไปถึงในระดับจังหวัด เรียกว่า “Mini ITC” เชื่อมโยงการทำงานกับสำนักอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นผู้ให้บริการในลักษณะแบบ Front Desk ติดต่อหาลูกค้า ก่อนจส่งต่องานที่ต้องใช้ทักษะ องค์ประกอบทางวิชาการ และองค์ความรู้ที่สูงขึ้น มาที่ศูนย์ ITC ภูมิภาค เพื่อมีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน ในอนาคต

“เป้าหมายของ ITC ก็คือ การยกระดับภาคอุตสาหกรรมการผลิต การ Transform SMEs ในภาคการค้า การบริการและการเกษตร เพื่อให้ผู้ประกอบการมีการยกระดับตัวเองให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อก้าวไปสู่การแข่งขันกับผู้ประกอบการในระดับโลกได้ โดยเป้าหมายในการยกระดับมีอยู่ 3 ด้าน คือ เรื่องของการ Transform Product (ผลิตภัณฑ์), Process (กระบวนการทำงาน) และ People (ผู้ประกอบการและบุคลากรในการทำงาน) โดยตั้งเป้าอยากให้เกิดการ Transform ทั้ง 3 ด้าน บรรลุผลสำเร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี

ขณะที่ในภาคส่วนต่างๆ กำลังช่วยกันสร้าง platform เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รู้ถึงสถานภาพความเป็น 4.0 ในกิจการตนเอง ซึ่งจะแล้วเสร็จไม่เกินสิ้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่งอยู่ในระหว่างให้มีการทดลองใช้ผ่านทางเว็บไซต์ และจะพัฒนาต่อไปเป็น Application ในอนาคตด้วย”

 

นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากพันธกิจที่ได้รับมอบหมายจาก ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation Center : ITC) ส่วนกลาง เร่งผลักดันและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในภูมิภาค มีการต่อยอดนวัตกรรม เทคโนโลยี จนนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น และเตรียมความพร้อมไปสู่โลกแห่งธุรกิจยุคใหม่ ขานรับนโยบายการปฏิรูปประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือน นับจากการเปิดตัวของศูนย์ ITC ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการและมีผู้ประกอบการและผู้สนใจมาใช้บริการ ฝึกอบรม สัมมนา และศึกษาดูงานแล้วกว่า 1,000 ราย และได้พัฒนาผลงานนวัตกรรมให้ SME ไปแล้วกว่า 51 ชิ้นงาน

“สำหรับแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ ITC ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ นอกจากจะดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ ในพื้นที่ตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมายจากศูนย์ ITC ส่วนกลางให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ต่อจากนี้ จะเร่งพัฒนาเครือข่ายและความร่วมมือกับ Big Brothers ต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและรองรับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งให้ความสนใจและเข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย และในอนาคตจะมีการเพิ่มเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการในการ เข้ามาใช้บริการได้มากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเร็วๆ นี้”

 

นายทานทัต ยมเกิด ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกและวัสดุอุตสาหกรรม กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จังหวดลำปาง เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เดินหน้าผลักดันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิกในหลายมิติ ส่งผลให้ปัจจุบัน ศูนย์ ITC กลุ่มพัฒนาเซรามิกฯ สามารถรองรับการทำงานและให้บริการแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ได้อย่างครบวงจร

โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการ ผู้ผลิต นวัตกรรม และงานวิจัย เข้าไว้ด้วยกัน พร้อมให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ให้สามารถก้าวทันตามความเปลี่ยนแปลง มีการยกระดับและพัฒนาธุรกิจการค้าไปสู่เชิงพาณิชย์ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในการประสานพลังกันขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมเซรามิกในพื้นที่

“สินค้าเซรามิกของจังหวัดลำปาง เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง โดดเด่นด้วยรูปแบบลวดลายของผลิตภัณฑ์ที่ยังอิงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณี ประกอบการผู้ประกอบการในพื้นที่มีความแข็งแกร่งและมีประสบการณ์ในการผลิตเพื่อจำหน่ายมาอย่างยาวนาน สินค้าเซรามิกของจังหวัดลำปางจึงเป็นสินค้าที่ยังคงมีผู้บริโภคให้ความสนใจอยู่มาก

โดยยุทธศาสตร์ต่อจากนี้ ศูนย์ ITC กลุ่มพัฒนาเซรามิกและวัสดุอุตสาหกรรม จ.ลำปาง จะมุ่งเน้นพัฒนาสินค้านวัตกรรม เพิ่มความรู้ความสามารถให้ผู้ประกอบการ ตลอดจนเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาและมีการผสมผสานนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการเซรามิก และเป็นการตอกย้ำการเป็นผู้นำเซรามิกในภูมิภาค นอกจากนี้ ทางศูนย์ ITC กลุ่มพัฒนาเซรามิกและวัสดุอุตสาหกรรม จ.ลำปาง ยังมีเป้าหมายในการขยายขอบข่ายการให้บริการให้ครอบคลุมแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิกไปทั่วประเทศอีกด้วย”

ด้านผู้ประกอบการในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่ประสบความสำเร็จในการต่อยอดสินค้านวัตกรรม จนนำไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ อาทิ ผลิตภัณฑ์ผงกาแฟชงพร้อมดื่ม “เย็นใจ” ของบริษัท นอร์ทเทิร์นเบเวอเรจไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเกิด จาก 2 นักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ นายชัยวัฒน์ เมืองโพธิ์ , นายจุติพงษ์ พิจารณสันต์ มีวัตถุดิบเป็นเมล็ดกาแฟในมือ และมีแนวคิดในการสกัดเมล็ดกาแฟให้เป็นผงกาแฟสำเร็จรูป ชงพร้อมดื่ม

จึงเข้ามาขอคำปรึกษาและขอทดลอง วิจัย และพัฒนาสูตร ตลอดจนใช้บริการเครื่องจักรภายในศูนย์ ITC จ.เชียงใหม่ จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ก่อนนำไปทดสอบการตลาด ซึ่งถือว่าเป็นผู้ประกอบการ Start up รายเล็กๆ ที่สามารถผลิตผงกาแฟสำเร็จรูปได้โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติแหล่งเงินทุนในการจัดตั้งโรงงานและเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เป็นผู้ประกอบการที่มีมาตรฐานในอนาคต

ผลิตภัณฑ์ผงหลินจือสกัด “สยามเห็ด” ของบริษัท สยามเห็ดฟาร์ม ดำเนินธุรกิจโดย นายเอกสิทธิ์ ศรีชัยวิทย์ และ นายภาสกร ไชยองค์การ ซึ่งเดิมประกอบธุรกิจฟาร์มเพาะเห็ดและแปรรูปเห็ดอบแห้ง โดยมีแนวคิดในการนำวัตถุดิบที่มี คือ เห็ดหลินจือที่มีขนาดดอกเล็ก ตกเกรด มาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเน้นสรรพคุณของเห็ดหลินจือให้มีความโดดเด่น โดยแปรรูปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดจากเห็ดหลินจือชนิดผง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายใต้โครงการพัฒนาการแปรรูปสินค้าเกษตรสู่อนาคต (Future Food)

ผลิตภัณฑ์ข้าวซอยกึ่งสำเร็จรูปพร้อมปรุง “ภรณ์เสวย” ของบริษัท ภรณ์เสวยเชียงใหม่ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวเหนือแต่ไปทำธุรกิจอยู่ภาคใต้ ก่อนจะย้ายกลับมาทำงานที่ จ. เชียงใหม่ โดยมีแนวคิดจะนำข้าวซอยกึ่งสำเร็จรูป ส่งไปขายในจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้ จึงเข้ามาใช้บริการเครื่อง Spray Dryer, เครื่อง Freeze Dryer และเครื่องอบแห้งด้วยระบบลมร้อน พร้อมพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อคงความสดใหม่และรสชาติให้คงเดิมมากที่สุด

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม ซึ่งในอนาคตยังมีแนวคิดในการนำอาหารประเภทต่างๆที่มีเอกลักษณ์ของภาคเหนือและภาคใต้มาผลิตก่อนส่งไปขายยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย

 

 

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จใน จ.ลำปาง อาทิ ผลิตภัณฑ์เซรามิก “ชามตราไก่” ของบริษัทธนบดีเดคอร์เซรามิค จำกัด นำโดยทายาทรุ่นที่ 2 นายพนาสิน ธนบดีสกุล ศิลปินหนุ่มและกรรมการผู้จัดการ บริษัทธนบดีเดคอร์เซรามิค จำกัด ผู้ริเริ่มการผลิตรูปลอกเซรามิกสีบนเคลือบแห่งแรกของภาคเหนือ และพัฒนาสินค้านวัตกรรมอื่นๆ

อาทิ ผลิตภัณฑ์เซรามิกให้มีลวดลายนูนต่ำ ด้วยเทคนิคพ่นทราย จานรองแก้วดูดน้ำได้ การรียูสแม่พิมพ์ปูนปาสเตอร์ นอกจากนี้ ยังมีแบรนสินค้าของขวัญและของที่ระลึกรูปช้าง ช้างเผือก, ชุดหมู่บูชาพระแบรนด์ บูชาดี จนสามารถสร้างชื่อเสียงในด้านผู้ผลิตเซรามิคของตกแต่งบ้านคุณภาพสูงที่มีดีไซน์สวยงาม ส่งออกไปยัง 73 ประเทศทั่วโลก และในอนาคต บริษัทมีแนวคิดในการติดตั้งเทคโนโลยีเกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Automation) ตลอดจนการปรับเข้าสู่ยุคดิจิตัล ด้วยการเชื่อมต่อเครือข่ายในรูปแบบ ‘Internet of Thing (IoT)’ เข้ากับเครื่องจักรกล Industrial automation เพื่อให้เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะอีกด้วย

กระเบื้องเคลือบแก้วปูพื้นและกระเบื้องสระน้ำเคอราดลภายใต้ชื่อแบรนด์ “เคอร่า” (Kera) ของ บริษัทเคอร่าไทล์ เซรามิก จำกัด โดย นายปรีชา ศรีมาลา ผู้จัดการโรงงาน ผู้ริเริ่มในการทำสินค้าต้นแบบจากการนำขวดแก้วเหลือใช้ต่างๆ มาทดลองให้เกิดกระบวนการบดละเอียดที่ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกและวัสดุอุตสาหกรรม กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จังหวัดลำปาง ก่อนจะต่อยอดความสำเร็จจนกลายมาผู้ผลิตชั้นนำของประเทศที่มียอดจำหน่ายสูงเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทยในปัจจุบัน และส่งออกไปสู่อีกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

โดยมีจุดเด่นของแบรนด์สินค้ายอดนิยม อาทิ กระเบื้องเคอร่าคอตต้า ,กระเบื้องเซรามิกไม่เคลือบที่เน้นความเป็นธรรมชาติแบบกระเบื้องดินเผา, กระเบื้องเคอร่าดล สีสันสดใส และกระเบื้องเคอร่าดลแอนทีค กระเบื้องเคลือบแตกลายงาที่มีลักษณะเฉพาะตัว ผสมผสานความเป็นงานแฮนด์เมดที่มีลักษณะไม่เหมือนกันในแต่ละแผ่น กลายเป็นความงามสไตล์โบราณที่มีคุณค่า

ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมเซรามิกในพื้นที่และต่างจังหวัดทั่วประเทศ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ ITC กลุ่มพัฒนาเซรามิกและวัสดุอุตสาหกรรม ตำบลศาลา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง โทร 054-281884 หรือเว็บไซต์ https://cim.dip.go.th/th , ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ถ.ทุ่งโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทร 053 245-361-2 หรือเว็บไซต์ https://ipc1.dip.go.th/th