วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

ชลประทานเชียงใหม่ วางแผนจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน รอลุ้นพายุเข้ามาเติมน้ำในเขื่อน

Social Share

2 ก.ค. 62 : นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ พร้อมด้วย นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา และเจ้าหน้าที่ชลประทานในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน ได้จัดโครงการสื่อสัญจร โดยนำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปดูความคืบหน้าประตูระบายน้ำวังปาน ประตูระบายน้ำดอยน้อย เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน และแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า ปริมาณฝนสะสมที่ตกในปีนี้ถึงปัจจุบัน มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ระหว่างร้อยละ 50-65 ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขา มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณน้ำสะสมที่ไหลในแม่น้ำปิงผ่านเมืองเชียงใหม่ เท่ากับ 124 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปี 2561 ที่ไหลผ่าน 242 ล้านลูกบาศก์เมตร (น้อยกว่าร้อยละ 49) และภาพรวมปริมาณน้ำฝนปีนี้ของทั้งประเทศ จะน้อยกว่าค่าปกติ 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่งของจังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำ 60.25 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 22.91 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำ 87.219 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 32.91 เปอร์เซ็นต์ รวมเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งสองแห่งมีน้ำรวมกัน 147.47 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 27.93 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังสามารถเก็บกักน้ำได้ 380.63 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนขนาดกลาง 18 แห่ง ภาพรวมมีปริมาณน้ำรวมกันคิดเป็น 34 เปอร์เซ็นต์ เก็บกักน้ำได้อีก 81.13 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 193 แห่ง มีน้ำรวมกันคิดเป็น 46 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บกักน้ำได้อีก 54.61 ล้าน ลบ.ม.

ในขณะเดียวกันทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ปี พ.ศ.2562 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 และจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม 2562 โดยคาดหมายว่าฤดูฝนปีนี้ จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 1 ลูก ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรอพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามาว่าจะเติมน้ำในเขื่อนได้มากน้อยเพียงใด และปริมาณเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง ยังรองรับปริมาณน้ำฝนจากพายุที่จะเข้ามาได้ถึง 3 ลูก ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด รองรับพายุเพื่อรับน้ำฝนได้ถึง 5 ลูก ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2562 เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติ (อุทกภัย) และเตรียมพร้อมในการวางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 ที่จะมาถึง ด้วยการติดตามข้อมูลสภาพฝนและปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนอย่างต่อเนื่อง

การวางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้น้ำตลอดฤดูฝนและเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง ทั้งการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี การส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น โดยวางแผนการปลูกพืชฤดูฝน ปี 2562 พื้นที่ 480,744 ไร่ (น้อยกว่าปี 2561 เท่ากับ 16,222 ไร่) การบริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยระบบและอาคารชลประทาน ดำเนินการเก็บกักน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำต่ำสุด ตามช่วงเวลา เพื่อความมั่นคงด้านการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ

โดยคาดหมายว่าจะมีปริมาณน้ำเก็บกักเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ปี 2562 เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เท่ากับ 220 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 83) และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เท่ากับ 117 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 45) พร้อมวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน ตรวจสอบความพร้อมใช้งานของอาคารชลประทาน กำจัดวัชพืช/สิ่งกีดขวางทางน้ำ เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ (เชียงใหม่ 64 เครื่อง ลำพูน 9 เครื่อง รวม 73 เครื่อง) และจัดทำแผนที่ปฏิบัติการในภาวะวิกฤติอุทกภัย (One Map) ในพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยของพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน (พื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ พื้นที่ลุ่มน้ำขาน พื้นที่อำเภอหางดง)

มีการจัดตั้งศูนย์ประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ (SWOC 1) เพื่อติดตาม วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ และวางแผนการบริหารจัดการน้ำ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลสถานการณ์น้ำ ทางโทรศัพท์ 053 246 715 และได้ที่เว็ปไซต์ สำนักงานชลประทานที่ 1 (www.rid-1.com) ศูนย์อุทกวิทยาชลประทานภาคเหนือตอนบน (www.hydro-1.net) และขอความร่วมมือจากประชาชนและกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน ในการงดทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลลงทางน้ำต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการอุดตันและเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ รวมถึงการใช้ทรัพยากรน้ำในพื้นที่อย่างประหยัดและรู้คุณค่า เพื่อให้เพียงพอสำหรับความต้องการใช้น้ำทุกกิจกรรมและสามารถเก็บกักเป็นแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ตลอดฤดูแล้งที่จะมาถึงด้วย