วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

(คลิป) ผู้ประกอบการที่พักรายย่อยกว่า 4 พันรายในเชียงใหม่ โวยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันไม่ได้

Social Share

5 ก.ค. 63 : นายวีระวิทย์ แสงจักร์ ประธานที่ปรึกษา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ และประธานกลุ่มล่ามช้าง ผู้ประกอบการธุรกิจและที่พักที่ตั้งอยู่ย่านชุมชนล่ามช้าง เปิดเผยว่า จากโครงการของรัฐบาลที่ให้ผู้ประกอบการโรงแรม และที่พัก ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ผ่านเว็บไซต์ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดำเนินการฟื้นฟูการท่องเที่ยว มีะระยเวลาโครงการ 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 31 ตุลาคม 2563 ตนเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้เข้าไปลงทะเบียน แต่ปรากฏว่า ไม่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ และยังไม่ได้รับการตอบรับในโครงการนี้

นายวีระวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ตนยอมรับว่าเป็นโครงการที่ดี ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า เงื่อนไขของผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนได้ ต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยอีกเป็นจำนวนมาก เช่น เกสต์เฮาท์ โฮสเทล โฮมสเตย์ ที่ไม่มีใบอนุญาต หรือบางแห่งอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต ต้องเสียสิทธิไป และกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จริงๆ จะเห็นว่าเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ เขตปริมณฑล และจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ส่วนจังหวัดไกลๆ ไม่ค่อยได้ประโยชน์ เพราะคนส่วนใหญ่ที่จะเดินทางท่องเที่ยวเป็นคนกรุงเทพฯ ที่จะออกมาต่างจังหวัด

เชียงใหม่ มีผู้ประกอบการกว่า 4,000 แห่ง แต่ในจำนวนนี้ มีใบอนุญาตอย่างถูกต้องเพียง 500 กว่าแห่ง ผู้ประกอบการทุกคนเสียภาษีเหมือนกัน แต่โครงการนี้ทำให้รายย่อยไม่ได้ผลประโยชน์ และสาเหตุที่ผู้ประกอบการรายย่อยส่วนมากไม่มีใบอนุญาต เพราะข้อจำกัดด้านกฏหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.โรงแรมฯ 2547 จึงอยากให้ภาครัฐแก้ไขกฎหมาย หรือหาทางออกเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ที่ต้องการดำเนินธุรกิจให้ถูกต้อง ขณะที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธุรกิจการท่องเที่ยว จากวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท และจนถึงเวลานี้ธุรกิจที่พัก ทั้งโรงแรมขนาดเล็ก เกสต์เฮ้าส์ และโฮสเทล ที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่กว่า 3 พันแห่ง ยังคงปิดให้บริการ และในอนาคตมีแนวโน้มว่าหลายแห่งอาจปิดบริการถาวร โดยเฉพาะหลังจากผ่านพ้นมาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินในช่วงปลายปีนี้ คาดว่าจะเกิดหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เพราะสถานการณ์ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นศูนย์

นายรุจิพัฒน์ สุวรรณสัย เจ้าของ ฮาเต้ เกตส์เฮาส์ ย่านถนนมูลเมือง ในชุมชนล่ามช้าง ที่ปิดให้บริการ เปิดเผยว่า การจ่ายหนี้ให้สถาบันการเงินถือเป็นภาระหนักหากผู้ประกอบการไม่มีรายได้เข้ามาเลย ถ้าพ้นระยะเวลาพักชำระหนี้คาดว่าจะมีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากจะทยอยปิดตัว ส่วนรายที่ยังพอมีทุนเหลืออยู่บ้าง แต่หากไม่มีรายได้เข้ามา เพราะไม่สามารถเข้าถึงโครงการช่วยเหลือของภาครัฐได้ ก็อาจต้องปิดตัวตามไปเช่นกันต่อไป