วันพฤหัสบดี, 18 เมษายน 2567

เชียงใหม่ ประกาศพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 15 อำเภอ 317 หมู่บ้าน แม่แจ่ม อมก๋อย หางดง เสี่ยงที่สุด

Social Share

14 ก.ค. 63 : ว่าที่ร้อยตรี ณัฐพงค์ ฐิตวิกรานต์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ได้คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2563 ว่า ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้ จะเริ่มต้นประมาณปลายเดือนพฤษภาคม และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม โดยในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน จะเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกหนาแน่น ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักมากในหลายพื้นที่ และอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในบางแห่ง

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยเป็นไปอย่างมีประสิทะภาพ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ จึงดำเนินการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2563 และแต่ตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่ออำนวยการจัดทำแผน กำหนดแนวทาง เฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการสำรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยทั้งหมด 25 อำเภอ ก็พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด 15 อำเภอ 47 ตำบล 317 หมู่บ้าน โดยพื้นที่เสี่ยงมากที่สุดคือ อำเภอแม่แจ่ม จำนวน 104 หมู่บ้าน รองลงมาคือ อำเภออมก๋อย จำนวน 96 หมู่บ้าน อำเภอหางดง จำนวน 23 หมู่บ้น และอำเภอจอมทอง 21 หมู่บ้าน โดยได้แจ้งให้ทุกอำเภอจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ เครื่องจักรกล อุปกรณ์แจ้งเตือนภัย และเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา ในส่วนของพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในเขตเมืองเชียงใหม่ ที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง และแม่น้ำปิงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมเขตชุมชนนั้น จะใช้แผนที่ One Map ที่เป็นการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมป้องกันปัญหาน้ำท่วม โดยใช้แนวทางปฏิบัติงานเดียวกันทั้งหมด ขณะเดียวกัน ได้มีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัย ให้เพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนสู่ประชาชนในทุกช่องทาง เช่น สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายอาสาสมัคร อปพร. มิสเตอร์เตือนภัย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น โดยเน้นการแจ้งเตือนประชาชนต้องรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์

นอกจากนี้ ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดตั้งชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติประจำองค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล แห่งละ 50 คน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้มีบุคลากรสามารถปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป้าหมายของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งหมด 205 แห่ง แบ่งเป็น เทศบาลตำบล 114 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 91 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 21 อำเภอ แบ่งเป็นเทศบาลตำบล จำนวน 75 แห่ง อบต. จำนวน 58 แห่ง รวม 133 แห่ง คงค้างอีก 72 แห่ง โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้