วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

(มีคลิป) สวยจนน่าทึ่ง มช. จัดทำ zero waste ถนนจากขยะพลาสติกช่วยลดปัญหาขยะตกค้าง

Social Share

เชียงใหม่ มช. จัดทำ zero waste ถนนจากขยะพลาสติกช่วยลดปัญหาขยะตกค้าง นำมาเป็นส่วนผสมในวัสดุผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต ถนนพลาสติกนี้มีความแข็งแรงขึ้น ลดการใช้ยางมะตอย ลดต้นทุนของการทำถนนได้อีกทางหนึ่ง ล่าสุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนามความร่วมมือกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลาสติกเหลือใช้ กลับมาเพิ่มประสิทธิภาพของถนนนและช่วยสร้างมูลค่าให้กับขยะพลาสติกที่ใช้แล้ว

จากขยะมูลฝอยเป็นเหตุที่สำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ และถูกต้องตามหลักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจรโดยปราศจากของเสีย (zero waste) โดยได้ริเริ่มนำขยะพลาสติกที่เหลือจากโรงคัดแยกขยะต้นแบบของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตแอสฟัลติกคอนกรีต เพื่อการก่อสร้างและซ่อมแซมโครงข่ายถนนในมหาวิทยาลัย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาวิจัยจนสามารถสร้างถนนต้นแบบที่มีส่วนผสมของเศษพลาสติกเหลือใช้จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้มาตราฐานความแข็งแรงและความปลอดภัยเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท และปราศจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยคุณสมบัติทั่วไปของผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตที่นำเอาขยะพลาสติกมาเป็นส่วนผสมนี้ ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทดสอบมาตรฐานความแข็งแรงและความปลอดภัย เป็นไปตามข้อกำหนดของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท และปราศจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง “โครงการศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหลือใช้เพื่อนำมาทำถนนแอสฟัลต์คอนกรีตผสมพลาสติกที่ใช้แล้ว” โดยมีศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดรุณี นาพรหม คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมโยธาและฐานรากระบบรางขั้นสูง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมพิธีลงนาม

พลาสติกเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกใช้เป็นจำนวนมหาศาลในทุกวินาที ขยะพลาสติกจึงเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณในทุกวัน ด้วยระบบการจัดการขยะที่ไม่มีคุณภาพ ในแต่ละปีมีจำนวนขยะโดยรวมประมาณ 27-28 ล้านตัน มีขยะเพียงจำนวน 11.70 ล้านตันเท่านั้นที่ถูกกำจัดโดยวิธีการฝังกลบ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ พัฒนางานวิจัยการเพิ่มความแข็งแรงของถนนโดยสร้างจากขยะพลาสติกมาผสมกับยางมะตอย นอกจากช่วยบรรเทาปัญหาในการจัดการขยะแล้ว ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการสร้างถนนได้อีกทางหนึ่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ กล่าวว่าการทำ Zero Waste คือการจัดการขยะด้วยตัวเอง 100 % เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้ความสำคัญแก่การคัดแยกขยะเป็นต้นทางการบริหารจัดการขยะที่สำคัญมาก โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาและบุคลากรในการคัดแยกขยะ โดยพลาสติกชนิดถุงหิ้ว ถุงร้อนที่มีการปนเปื้อนมักจะไม่สามารถ Recycle โดยตรง จึงจำเป็นต้องกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ หรือการเผา แม้จะก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการสร้างพลังงานก็ตาม แต่ยังสร้างมลภาวะให้แก่สิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ทำการคิดค้นวิธีการที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่การแปลงสภาพของขยะพลาสติกเหล่านั้น โดยนำเข้าสู่กระบวนการทดสอบความสามารถในการเป็นสารยึดเกาะที่ผสมกับยางมะตอยหรือที่เรียกว่า Asphalt พลาสติกได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างพันธะอย่างสมบูรณ์ ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากการชะล้างในสภาวะธรรมชาติ

ถนนพลาสติกนี้มีความแข็งแรงขึ้น ในขณะเดียวกันสามารถลดการใช้ยางมะตอยได้ ทำให้ต้นทุนของการทำถนน หรือการทำพื้นผิวทางโยธาถูกลง ความสำคัญอีกประการในการวิจัยครั้งนี้คือการทดสอบความทนทานของท้องถนน สร้างความมั่นใจว่าถนนสามารถใช้งานได้จริง รองรับต่อการเสียดสีในระยะยาว 7 – 8 ปี งานวิจัยประสบความสำเร็จจนเกิดถนนต้นแบบที่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมของการทำทางทั้งจากกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เป็นถนนสาธารณะที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เปิดให้ชุมชนโดยรอบได้ใช้สัญจร ตั้งอยู่ ณ บริเวณ ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ

ปัญหาการจัดการขยะไม่เพียงแต่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถร่วมมือกันเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความมุ่งมั่นในทิศทางการดำเนินงานสู่เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป็นวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ขององค์กร ร่วมกับการทำงานกับชุมชน เพื่อคืนคุณค่าความดีงามสู่สังคม สร้างประโยชน์ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกได้ ถนนแห่งนี้ไม่เพียงแต่ได้เป็นทางเดินรถเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าถึงการจัดการปัญหาที่สั่งสมมานานได้อย่างเป็นรูปธรรม