วันจันทร์, 7 กรกฎาคม 2568

สุดทนรอรัฐไหว 7 ชุมชนริมน้ำกก ตั้งวงเสริมทักษะทำแผนแจ้งเตือนรับมือน้ำท่วม หวั่นรุนแรงกว่าปีก่อน แถมยังมีสารพิษปนเปื้อนในน้ำ

สุดทนรอรัฐไหว 7 ชุมชนริมน้ำกกตั้งวงเสริมทักษะทำแผนแจ้งเตือนรับมือน้ำท่วม หวั่นรุนแรงกว่าปีก่อนแถมยังมีเรื่องสารโลหะหนักเพิ่ม “ครูตี๋”ชี้น้ำกก-สาย-รวก-โขงปนเปื้อนสารพิษเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในชีวิต

วันที่ 8 มิถุนายน 2568 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เครือข่ายข้อมูลอุทกภัยแม่น้ำกก (คอก.) มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้จัดกิจกรรมเสริมทักษะในการรับมืออุทกภัยให้แก่ชุมชน 7 แห่งตลอดลำน้ำกก จากชายแดนพม่าที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ถึง อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 35 คน

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า ปัญหาแม่น้ำโขงปัจจุบันมีประเด็นสารพิษโลหะหนักปนเปื้อนเนื่องจากการทำเหมืองที่ต้นน้ำในพม่า โฮงเฮียนฯจึงได้มีปฏิบัติการส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนและชุมชน โดยตรวจคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง จากสบรวก อ.เชียงแสน ถึง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ประเด็นแม่น้ำโขงขณะนี้ชี้ให้เห็นว่ารัฐยังทำงานแบบเดิม คือทำให้ปัญหาดูไม่รุนแรง และรัฐจะจัดการเอง แต่การเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นคือการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน การร่วมมือกันกับรับและภาควิชาการ

“ทีมงานของโฮงเฮียนน้ำของ ได้ติดตามวัดระดับน้ำและตะกอนแม่น้ำโขงมาตลอด ตอนนี้เจอเรื่องสารโลหะหนักปนเปื้อน ครั้งนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของชีวิตแล้ว รัฐได้เห็นความสำคัญของปัญหานี้ขนาดไหน” ครูตี๋ กล่าว

พระมหานิคม มหาภินิกฺขมโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าเดินทางจากหัวน้ำกกประเทศไทย มาถึงปลายแม่น้ำกก ที่แม่น้ำโขง ตนเป็นลูกน้ำกก ทุกคนเวลานี้ต่างได้รับความทุกข์ แต่เราไม่ยอมอยู่นิ่งจึงต้องมาทำงานร่วมกัน เราไม่ได้ทำงานเพื่อตัวเราเอง แต่ทำเพื่ออนาต เพื่อลูกหลานที่จะเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย แม้จะไม่สำเร็จในยุคของเราเราก็ส่งต่องานให้ทำต่อไป

ขณะที่ นายทาเคโอ โตโยต้า ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้สอนการวัดระดับน้ำ และหากระดับน้ำกกสูง 5 เมตรที่บ้านร่มไทย จะต้องมีการแจ้งเตือนในกลุ่มไลน์เพื่อเฝ้าระวัง โดยการสร้างเครือข่ายทำงานโดยแต่ละคนต่างประสบปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมที่แม่น้ำกก ทำให้เกิดความช่วยเหลือกัน

ทั้งนี้ ผู้แทนชุมชนทั้ง 7 แห่งได้เล่าสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมและดินโคลนถล่มเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยแต่ละหมู่บ้านต่างได้รับความเสียงหายอย่างหนักซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และหลายคนต่างแสดงความหนักใจในสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในฤดูฝนครั้งนี้ แต่ยังมีความอุ่นใจที่ได้สร้างเครือข่ายช่วยเหลือและเฝ้าระวังภัยร่วมกัน

นายทศพร สามหน่อวงศ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.14 บ้านร่มไทย กล่าวว่าพายุยางิเข้าทำให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำขึ้น 20 ซม.ใน 1 ชม. ซึ่งรวดเร็วมาก และชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่เชื่อว่าน้ำจะท่วม แม้ได้เข้าไปเตือนชาวบ้านให้ย้ายข้าวของ แต่ปรากฏว่าน้ำมาแรงและพัดเอาไปทั้งที่ดินละบ้านเรือน มีประชาชนตรอมใจเสียชีวิตหลังจากนั้น ทุกคนช่วยกัน

ขณะที่สมาชิกอบต.บ้านจะคือ กล่าวว่าน้ำกกท่วมปี 2567 ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หน่วยงานรัฐเตือนว่าฝนตกหนักให้ยกของขึ้นที่สูง แต่เกิดน้ำท่วมถึงหลังคาบ้าน ซึ่งนำเอาทรัพย์สินออกมาไม่ได้เลย ถนนถูกท่วม ดินสไลด์ เส้นทางถูกปิดออกไปไม่ได้ สัญญาณโทรศัพท์ก็ถูกตัดขาด พอน้ำลดแล้วก็มีแต่โคลน กว่าจะเคลียร์ได้ก็ใช้เวลาหลายเดือน รู้สึกดีใจได้มาร่วมในเครือข่ายเพราะจะได้ทราบข้อมูลเพื่อเตรียมการรับมือ

ทั้งนี้ ในวงหารือ ชาวบ้านต่างแสดงความวิตกกังวลเพราะเชื่อว่าปีนี้ไม่ใช่มีเพียงสถานการณ์น้ำหลากที่รุนแรงเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องสารโลหะหนัก เช่น สารหนู ปรอท แคดเมียม ที่ไหลลงมาพร้อมน้ำจากเหมืองต้นน้ำฝั่งพม่า ซึ่งขณะนี้มีการเปิดพื้นที่มากกว่า 40 แห่ง แต่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าทำเหมืองอะไรบ้าง ใช้สารอะไรบ้าง และมีระบบจัดการของเสียหรือไม่

 

ในวงหารือของ 7 ชุมชนริมลำน้ำกกเห็นพ้องว่าไม่สามารถรอความช่วยเหลือที่ล่าช้าและไม่ชัดเจนจากรัฐได้ เพราะชาวบ้านยังคงต้องอาศัยอยู่กับลำน้ำในทุกวัน แต่กลับไม่สามารถใช้น้ำ ไม่สามารถกินปลา หรือปลูกผักในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย จึงต้องพยายามช่วยเหลือกันเองให้มากที่สุด

ขณะที่ นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ได้สาธิตการตรวจวัดตะกอนแม่น้ำโขง ร่วมกับตัวแทนชุมชน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง เพื่อให้ทราบค่าความขุ่นของแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน และน้ำจากแม่น้ำกกมีการปนเปื้อนสารหนูสูงกว่าค่ามาตรฐาน โดยมีคำถามว่าการตักน้ำมาวัดจะทำอย่างไร นายมนตรีตอบว่าเมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าแม่น้ำมีสารพิษ เราก็เดินลงไปตรวจเลย แต่ตอนนี้ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

“เสียงเรียกร้องจากชุมชนจึงชัดเจนว่า พวกเราต้องยุติการทำเหมืองที่ไร้มาตรฐานโดยเร็ว ต้องมีระบบติดตามและเตือนภัยที่ออกแบบร่วมกันของชุมชน รัฐต้องมีคำตอบและความรับผิดชอบต่อปัญหาสุขภาพและการปนเปื้อนที่อาจแพร่กระจายไปไกลกว่าริมแม่น้ำ ก่อนที่ความเสียหายจากสารพิษ อาจกลายเป็นบาดแผลถาวรที่แม่น้ำไม่อาจชะล้างได้” นายมนตรี กล่าว

Cr. ณัฐวัตร ลาพิงค์