เชียงราย เครือข่าย “กก อิง โขง” เรียกร้องร่วมกันตรวจสอบการปนเปื้อนในปลา
วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 จากการเปิดเผยผลตรวจแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก ของหลายหน่วยงานในจังหวัดเชียงราย พบการปนเปื้อนสารหนูเกินค่ามาตรฐาน สาเหตุหลักมาจากการทำเหมืองในพื้นที่ต้นแม่น้ำสาย แม่น้ำรวกและแม่น้ำกก ในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา จนส่งผลกระทบต่อชุมชนริมแม่น้ำกก และแม่น้ำสายอย่างกว้างขวาง แม้หลายหน่วยงานจะเข้ามาตรวจสอบปัญหา แต่ยังไม่มีการแก้ไขจากปัญหาหลัก ที่มาจากเหมืองในพื้นที่ต้นน้ำ เป็นผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกินความสามารถของคนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเองได้
ภาคประชาชาชนในลุ่มแม่น้ำกกประเทศไทย ได้สะท้อนผลกระทบหลังแม่น้ำปนเปื้อนสารพิษ ที่กระทบต่อน้ำอุปโภค บริโภค วิถีชีวิตประมง เกษตร จากมลพิษข้ามพรมแดน เสนอรัฐบาลเร่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหา รวมถึงการเจรจาระหว่างประเทศ ผ่านข้อเสนอการแก้ไขปัญหาแม่น้ำกก 7 ข้อ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ที่ผ่านมาคือ
- แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งในแหล่งกำเนิดมลพิษ ระหว่างทาง และผู้รับผลพิษ จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำกก จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ภายใน 30 วัน
- เปิดเผยและซักซ้อมมาตรการรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำกก และลุ่มน้ำสาย อย่างเป็นระบบ มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพ
- สร้างความร่วมมือกับประเทศเมียนมา และกลุ่มกองกำลังว้า เพื่อเพิ่มจุดเก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสารปนเปื้อน ตลอดลำน้ำกก น้ำสาย ทั้งพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ทำเหมืองในรัฐฉาน ประเทศพม่า และพื้นที่แม่น้ำกกในประเทศไทย
- การสร้างระบบสื่อสารสาธารณะที่โปร่ง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำจังหวัดเชียงราย
- การขยายขอบเขตการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นการลุกล้ำหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดลุ่มน้ำ
- เปิดการเจรจา 4 ฝ่ายคือ ไทย เมียนมา กองกำลังชาติพันธุ์ที่ควบคุมพื้นที่สัมปทานเหมือง และประเทศจีน เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ โดยมีกลไกระดับอาเซียนบวกประเทศจีน
- การแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานในทุกระดับให้มีสัดส่วนของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบภาคประชาสังคม
แต่ปัจจุบันยังไม่มีการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำเหมืองต้นน้ำอย่างเป็นรูปธรรมเลย
ข้อกังวลของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำกก อิง โขง ได้พยามเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นรวมถึงปัญหาในระยะยาว เนื่องจากแม่น้ำกกเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมาตั้งแต่อดีต จากแม่น้ำเพื่อชีวิตกำลังเป็นแม่น้ำแห่งความตาย
ด้าน นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า ด้วยความห่วงใยในสถานการณ์ตอนนี้ ทางเครือข่ายร่วมกันตรวจสอบการปนเปื้อนในตัวของปลา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของคนในลุ่มน้ำ ทางสมาคมได้ประสานกับชาวประมงเพื่อนำปลาตัวอย่างที่มีลักษณะผิดปกติตรวจหาสารปนเปื้อน เพื่อให้รับรู้และรับมือกับสารปนเปื้อนที่มากับน้ำ และในการป้องกันการบริโภคปลาที่มีสารปนเปื้อน แต่การแก้ไขปัญหาหลักคือการแก้ไขปัญหาผลกระทบการทำเหมืองในเขตรัฐฉาน ซึ่งมันเกินกำลังของรัฐท้องถิ่นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งเจรจา 4 ฝ่ายคือ ไทย เมียนม่า กลุ่มกองลังชาติพันธุ์และจีนเพื่อตรวจสอบ หามาตรการควบคุมมลพิษตามกฎหมายหรืออนุสัญญาสิ่งแวดล้อมระดับสากลหรือถ้าไม่สามารถควบคุมได้ข้อเสนอสูงสุดคือต้องยุติการทำเหมือง”
หลังจากนี้ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำกก อิง โขง ในการทำแผนป้องกันและรับมือผลกระทบ 3 ระยะ คือ
- ระยะที่หนึ่ง ระยะเร่งด่วน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ ปลา และสัตว์น้ำ ในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวกและแม่น้ำมะ
- ระยะที่สอง ตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ ปลา และสัตว์น้ำในลำน้ำโขงจังหวัดเชียงราย และลำห้วยสาขาแม่น้ำกก จากอำเภอท่าตอน จังหวัดเชียงใหม่จนถึงปากแม่น้ำกกจำนวน 28 ลำห้วย
- ระยะที่สาม ตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ ปลา และสัตว์น้ำในแม่น้ำคำ แม่น้ำอิง และแม่น้ำงาว ระยะทาง 10 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำ
เพื่อหาข้อเท็จจริงในการสื่อสารให้กับชุมชนได้ตั้งรับปรับตัวจากข้อกังวลผลกระทบที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น ซึ่งในขณะนี้ได้ส่งตัวอย่างปลา จำนวน 4 ตัวอย่าง ให้ประมงจังหวัดเชียงรายตรวจสอบ คาดว่าจะทราบผลในอีก 3 สัปดาห์ โดยผลการตรวจสอบ ตัวที่ 1และ 2 จับได้ในวันที่ 28 เมษายน 2568 ณ ปากแม่น้ำคำ บ้านสบคำ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงราย ตัวที่ 3 และ 4 จับได้ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 ใต้ฝายป่ายางมน ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ตัวที่ 5 จับได้ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 ใต้ฝายป่ายางมน ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
Cr. ณัฐวัตร ลาพิงค์
เรื่องมาใหม่
- กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย จัดหลักสูตรการพัฒนาเมืองเชียงรายให้มั่นคง เจริญในทุกมิติ
- ทุเรียนแม่ฮ่องสอน อร่อยไม่แพ้ที่ใด ไม่ใช่มีแค่ลูกสองลูกแต่มีเป็นตัน ททท.แม่ฮ่องสอน ร่วมกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว เร่งผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
- มูลนิธิพิพัฒน์แม่ส่องสอน มอบทุนการศึกษาให้กับบุตรสมาชิกอาสารักษาดินแดน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปี2568
- แม่ฮ่องสอน พัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวบ้านรักไทยให้เป็นไปตามแนวทางกฎหมาย มีความปลอดภัย เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ
- แม่ฮ่องสอน ไม่มีสายการบินแล้ว หลังบางกอกแอร์เวย์ (Bangkok Airways ) หยุดบิน ไม่ส่งผลกระทบท่องเที่ยวมากนัก