วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

(คลิป) สวนสัตว์เชียงใหม่ ถวายเทียนพรรษาวัดกู่ดินขาว วัดโบราณที่อยู่คู่สวนสัตว์ เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนา

Social Share

4 ก.ค. 63 : ที่วัดกู่ดินขาว ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้นำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่ จัดพิธีแห่เทียนพรรษา ถวายที่วัดกู่ดินขาว ซึ่งเป็นวัดโบราณสมัยเวียงเจ็ดลิน และอยู่คู่กับสวนสัตว์เชียงใหม่ เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนา เนื่องในวันเข้าพรรษาประจำปี 2563

ประวัติ ความเป็นมาของวัดกู่ดินขาว มีความสัมพันธ์กับเวียงเจ็ดลินที่ ตามตำนานประวัติของล้านนา กล่าวถึงว่า เป็นการตั้งถิ่นฐานชุมชนในระยะก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ และเมืองหริภุญไชย สมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 13 (พ.ศ.1201-1300) และมีพัฒนาการสืบเนื่องมาในระยะหลังเรื่อยมา โดยเฉพาะหลักฐานคันดินกำแพงเวียงรูปกลม 2 ชั้น ระหว่างคูเวียงนั้น แสดงถึงภูมิปัญญาการสร้างเวียงที่มีพื้นฐานความรู้ทางผังเมืองอย่างดี จาการรู้จักระบบชลประทานจัดการน้ำที่ไหลลงมา จากดอยสุเทพ โดยขุดคูก่อคันดินเพื่อป้องกันน้ำหลากท่วมขัง และเก็บกักระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำมากและน้ำน้อย เป็นประโยชน์ด้านเกษตรกรรม รวมถึงใช้เป็นแนวป้องกันด้านการศึกสงครามที่ใช้เป็นแหล่งฐานที่มั่นทางทหาร ดังปรากฎเหตุการณ์ในสมัยล้านนา กรณีทัพสุโขทัย ใช้เวียงเจ็ดลินเป็นฐานกำลังเตรียมต่อสู้กับทัพเมืองเชียงใหม่

ปัจจุบันที่ตั้ง ของวัดกู่ดินขาว อยู่นอกเขตกำแพงเวียงเจ็ดลินทางทิศใต้ จัดเป็นโบราณสถานวัดเพียงแห่งเดียวของเมืองโบราณเวียงเจ็ดลิน ที่เหลือฐานการก่อสร้าง ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุดในเขตสวนสัตว์เชียงใหม่ กลุ่มโบราณสถานในบริเวณวัดประกอบด้วย เจดีย์ประธานวิหาร เจดีย์ราย 8 เหลี่ยม และกำแพงแก้วเขตพุทธาวาส ความน่าสนใจทางด้านการก่อสร้างวัดนี้ คือเรื่องเทคโนโลยี และวิศวกรรมจากการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นอิฐก้อนใหญ่มาก และเผาแกร่ง และด้านโครงสร้าง รับน้ำหนักในส่วนของเจดีย์ประธานที่ขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานอิฐขนาดใหญ่ และเทคนิคการทำโครงสร้างเช่นนี้ ในโบราณสถานที่อื่น

 

ลักษณะเจดีย์ประธาน เข้าลักษณะเป็นเจดีย์ทรงมณฑปรุ่นเก่า แม้จะไม่พบหลักฐานในส่วนของมณฑปและเครื่องยอด แต่จากระเบียบการทำชั้นฐานเชียงที่มีลานกว้างตอยบนชั้นกระดานสูง และระบบการวางโครงสร้างก่ออิฐภายในส่วนเรือนธาตุ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยม อันเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรามณฑปโดยทั่วไป ซึ่งได้วิเคราะห์เปรียบเทียบกับรูปแบบเจดีย์ของเมืองเชียงใหม่ และเขตใกล้เคียง พบว่าน่าจะเป็นเจดีย์ทรงมณฑปรุ่นก่อนสมัยล้านนา ดังปรากฎที่ลักษณะส่วนฐานของเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี เมืองลำพูน และเจดีย์วัดสันกู่(ร้าง)บนดอยสุเทพ ประมาณอายุ สมัยอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ.17.1-1800) สอดคล้องกับหลักฐานด้านโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ คือ พระพิมพ์ดินเผาแบบหริภุญไชยที่พบระหว่างการดำเนินงานขุดแต่ง

วิหาร ด้านหน้าเจดีย์ประธาน ที่เป็นสถานที่ประชุมของพุทธศาสนิกชนฟังเทศนาธรรมจากพระภิกษุสงฆ์นั้น ลักษณะเป็นอาคารโถงฐานสี่เหลี่ยมสร้างยกพื้นสูงขึ้นมา หลังคาเดิมเป็นแบบหน้าจั่ว ภายในแต่เดิมประดิษฐานมณฑปพระประธาน ที่พบสมัยการก่อสร้างซ่อมแซมหลายสมัย

เจดีย์ราย 8 เหลี่ยม ที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือของกำแพงแก้วเขตพุทธาวาส จากรูปแบบ การทำฐานปัทม์ แบบท้องไม้ลูกแก้วอกไก่คู่ โดยไม่มีฐานเขียงหน้ากระดาน รวมถึงชั้นปัทม์ก่อเก็จ ที่มักพบว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆัง แบบล้านนาทั่วไป จึงทำให้พิจารณาว่าน่าจะเป็นเจดีย์ทรงมณฑป 8 เหลี่ยม เช่นเจดีย์องค์หนึ่งของวัดสะดือเมือง ในเขตกลางเมืองเชียงใหม่

นอกจากนี้ หลักฐานโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ได้จากการดำเนินงานบูรณะ คือ อิฐก้อนใหญ่มีรอยขีดเขียนรูปใบหน้าบุคคลผู้ชาย ลักษณะวงหน้าสี่เหลี่ยม หวีผมแสกกลาง สวมตุ้มหูห่วงกลม และไว้หนวด ก็แสดงลักษณะหน้าตาของผู้ชายสมัยนั้น อีกทั้งตัวอักษรล้านนาที่ขีดเขียนบนอิฐก้อนหนึ่ง ข้อความ “นายดน” ซึ่งเป็นตัวฝักขามภาษาไทยเป็นรูปแบบอักษรล้านนารุ่นหลัง ราวพุทธศตวรรษที่ 20 (พ.ศ.2001-2100) อันอาจหมายถึงชื่อเจ้าศรัทธาผู้อุปถัมภ์วัด หรือคนปั้นอิฐเพื่อมาก่อสร้างซ่อมเสริมวัดแห่งนี้ในอดีต